42 ยักษ์มะกันยกทัพ เจาะลู่ทางลงทุนไทย

21 พ.ย. 2566 | 21:00 น.

คณะนักธุรกิจสหรัฐ 42 บริษัทยักษ์ใหญ่ ยกคณะส่องช่องลงทุนในไทย เข้าพบ “เศรษฐา” ก่อนเดินสายพบรัฐมนตรีกระทรวงใหญ่ และหาช่องทางลงทุนใน EEC ระหว่าง 21-23 พ.ย.นี้ ชูไทยมีศักยภาพลงทุนพลังงานสีเขียว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างความเติบโตผ่านเศรษฐกิจดิจิทัล

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2566 นี้ สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council) จะนำคณะนักธุรกิจรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกากว่า 42 บริษัท เข้าพบและหารือร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหัวหน้าหน่วยงานสำคัญของไทย เพื่อแสวงหาช่องทางลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ หลากหลายประเภท โดยเริ่มจากการหารือกับนายกรัฐมนตรีก่อนในช่วงบ่ายวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

 

สำหรับคณะนักธุรกิจสหรัฐที่เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ประกอบไปด้วยผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่จากหลายอุตสาหกรรม ทั้งธุรกิจท่องเที่ยว เช่น Agoda, Airbnb, Mariott ธุรกิจเทคโนโลยี ดิจิทัล เช่น Amazon, Apple, Google, IBM, Seagate, Qualcomm, SAP ธุรกิจขนส่งและยานยนต์ เช่น Boeing, Ford, Harley Davidson, FedEx ธุรกิจพลังงาน เช่น Chevron, ExxonMobil ธุรกิจยา เช่น Bayer, Johnson& Johnson, Pfizer รวมทั้งธุรกิจสำคัญอื่น ๆ เช่น Mastercard, Visa, Philip Morris, Estee Lauder และ Guardian เป็นต้น


 

ทั้งนี้ ในการหารือระหว่างนักธุรกิจรายใหญ่ของสหรัฐ และนายกรัฐมนตรี นับเป็นการต่อยอดจากการเดินทางเยือนสหรัฐ ของนายกฯ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกนายกฯ และคณะได้เดินทางเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 78 (The 78th UN General Assembly หรือ UNGA 78) ระหว่างวันที่18-26 ก.ย.66 ณ กรุงนิวยอร์ก และอีกครั้งคือ การเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 (2023 APEC Economic Leaders’Meeting) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งการเดินทางไปทั้ง 2 รอบนั้น นายกฯ ได้มีโอกาสหารือกับนักธุรกิจของสหรัฐ เพื่อชักชวนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

 

อย่างไรก็ดี ในการเข้าพบกับนายกฯ อีกครั้งในห้วงสัปดาห์นี้นั้น นักธุรกิจจากสหรัฐทั้ง 42 บริษัทใหญ่ จะได้รับทราบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับด้านการลงทุนในประเทศไทย โดยนอกจากการพบนายกฯ แล้ว คณะนักธุรกิจยังมีคิวเข้าพบกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือด้านแนวทางการสนับสนุนทางด้านการเงินจากรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อนักธุรกิจ จากนั้นจึงมีคิวเข้าหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับด้านการเงินด้วย

 

พร้อมกันนี้ ยังมีคิวเข้าพบกับรัฐมนตรีหลายกระทรวง เพื่อหารือแนวทางการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุน ประกอบด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้ง นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ
 

นอกจากนี้ คณะนักธุรกิจยังเตรียมเข้าหารือกับนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อนำเสนอภาพรวมของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี รวมไปถึงการเข้าพบกับหน่วยงานภาควิชาการอย่าง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) ด้วย

 

นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน ได้เข้าเยี่ยมคารวะ นายกรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนบริษัทสมาชิก จำนวนรวม 42 บริษัท จากภาคกลุ่มอุตสาหกรรม 8 สาขาหลัก ได้แก่ พลังงานและปิโตรเคมี สาธารณสุข เทคโนโลยีดิจิทัล การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภค บริโภค และผลิตภัณฑ์ความงาม คมนาคมและการขนส่ง และธุรกิจที่ปรึกษาและกฎหมาย

 

 ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่จะได้แลกเปลี่ยนมุมมองและข้อเสนอแนะร่วมกันว่าจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทย-สหรัฐฯ โดยได้ระบุถึง 3 ประเด็นสำคัญที่สามารถร่วมกับนักธุรกิจสหรัฐฯ ได้

 

ประการแรก ความยั่งยืน ไทยมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 ผ่านการเร่งรัดโครงการริเริ่มเศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน ทั้งด้านพลังงานทดแทน เทคโนโลยีไฮโดรเจน ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ และเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน รวมถึงการสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมด้วยสิทธิประโยชน์จูงใจที่สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละบริษัท

 

ประการที่สอง การเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค ซึ่งรัฐบาลจะยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมในภูมิภาค เช่น แผนที่จะสร้างสนามบินระดับภูมิภาคแห่งใหม่ในจังหวัดภูเก็ตและเชียงใหม่ พัฒนาสนามบินขนาดเล็ก และสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมต่อไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่นๆ เข้ากับทะเลผ่านประเทศไทย 

 

นอกจากนี้ ไทยยังมีโครงการ Landbridge ซึ่งเป็นโครงการเชื่อมต่อขนาดใหญ่ให้กับนักลงทุนที่มีศักยภาพ ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทาง โดยเชื่อมต่อทะเลอันดามันเข้าสู่อ่าวไทย

 

ประการที่สาม การสร้างความเติบโตผ่านเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่สร้างผลกำไรสูง โดยมีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างระบบนิเวศนี้ด้วยนโยบายและมาตรการเชิงนวัตกรรมต่างๆ

 

ด้านผู้แทนจากบริษัทภาคเอกชนสหรัฐฯ กล่าวว่า ยินดีที่รัฐบาลไทยจะเร่งขับเคลื่อน FTA และมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่จะช่วยสนับสนุนการขยายการค้าการลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งการผลักดันการใช้พลังงานทดแทน เศรษฐกิจสีเขียว การสร้างความยั่งยืน ซึ่งหลายบริษัทแสดงความพร้อมที่จะขยายการลงทุนในไทยในระยะยาว และต่อยอดมาตรการ EV ของรัฐบาล

 

 รวมถึงภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม จะส่งเสริมผลผลิตจากเกษตรกรของไทย และผลักดันให้อาหารไทยให้เป็น Food Paradise ภาคเทคโนโลยีดิจิทัล จะแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีของสหรัฐฯ โดยเฉพาะเทคโนโลยีคลาวด์และระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ ภาคยาและเวชภัณฑ์ จะหารือถึงแนวทางการจัดหาวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก รวมไปถึงภาคการให้บริการทางการเงิน ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยให้รองรับต่อเทคโนโลยีในอนาคตและการสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์ด้วย

 

นายรอเบิร์ต เอฟ. โกเด็ก เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทที่เข้าร่วมการหารือครั้งนี้ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของสหรัฐฯ และธุรกิจของสหรัฐฯ ที่มีในประเทศไทย ซึ่งบริษัทต่างๆ พร้อมที่จะทำธุรกิจเพื่อช่วยสนับสนุนความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ทั้งไทย สหรัฐฯ และโลก ซึ่งบริษัทเหล่านี้ถือเป็นตัวแทนของตำแหน่งงานอีกหลายหมื่นตำแหน่ง มีมูลค่าการค้าหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งทั้งหมดยินดีที่จะสนับสนุนความเจริญรุ่งเรือง สร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน

 

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี กล่าวว่า สำหรับกรณีที่กลุ่มนักธุรกิจทั้งไทยและนักธุรกิจชาวต่างชาติเดินทางมาไทยเพื่อหารือในด้านการลงทุนในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 นั้น เบื้องต้นทางอีอีซีจะมีพูดคุยในประเด็นที่คาดว่านักลงทุนสหรัฐอเมริกาสามารถมาร่วมลงทุนกับไทยได้ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิกส์,ดิจิทัล,การแพทย์ ฯลฯ

 

 “เราได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ถือเป็นเรื่องดีที่กลุ่มนักธุรกิจจะเดินทางมาพูดคุยกับเราในไทย ซึ่งดีกว่าการที่เราเดินทางไปเข้าพบนักธุรกิจแต่ละรายด้วยตนเอง”

 

 แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า บริษัท เชฟรอน หนึ่งในคณะนักธุรกิจที่เข้าพบนายกรัฐมนตรี เป็นไปได้ว่าจะมีการหารือถึงการเร่งรัดการเจรจาความร่วมมือพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา (OCA) โดยเร็ว เพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติร่วมกัน หากรัฐบาลดำเนินการได้และประสบความสำเร็จ ทางเชฟรอนจะสามารถเริ่มเข้าไปลงทุน ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ได้ เพราะปัจจุบันมีใบอนุญาตในการสำรวจ (License) 4 แปลง อยู่ในของพื้นที่ OCA อยู่แล้ว

 

 รวมถึงเร่งรัด หรือขอความชัดเจนในการต่อระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียมของแปลง B12/27 หรือแหล่งไพลิน กำลังผลิตก๊าซธรรมชาติ ราววันละ 430 ล้านลูกบาศก์ฟุต ที่จะหมดอายุสัญญาในปี 2571 ขอต่อระยะเวลาไปอีก 10 ปี ถึงปี 2581 เพื่อให้เกิดการลงทุนและความต่อเนื่องในการผลิตปิโตรเลียม