ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิ่งเหว ลดต่ำสุดรอบ 16 เดือน

16 พ.ย. 2566 | 00:29 น.

ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ลดต่ำสุดในรอบ 16 เดือน เผยหดตัวลงเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ แนะรัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงท้ายปี 66

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึง ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนตุลาคม 2566 ว่า อยู่ที่ระดับ 88.4 ปรับตัวลดลง จาก 90.0 ในเดือนกันยายน ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ยกเว้นความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากภาครัฐออกมาตรการลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซล ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง

ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2566 ที่ปรับตัวลดลง มีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจในประเทศที่ยังฟื้นตัวช้า เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมและภาคการผลิตชะลอตัวลง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าแฟชั่น วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ขณะที่การปรับขึ้นราคาสินค้ายังทำได้จำกัด ประกอบกับมีการแข่งขันสูงด้านราคา 

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น ส่งผ่านไปยังต้นทุนทางการเงินและทำให้ภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาททำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมีปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการ และกระทบต่อเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่
 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว สะท้อนจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ ยุโรป ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง รวมถึงอานิสงส์จากมาตรการ “วีซ่าฟรี” ให้กับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 

ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิ่งเหวลดต่ำสุดในรอบ 16 เดือน

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,337 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. ในเดือนตุลาคม 2566 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 85.7% ,อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 70.1% และเศรษฐกิจในประเทศ 48.8% 

สำหรับปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 52.7% ,สถานการณ์การเมืองในประเทศ 41.2% และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 40.5% 

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 94.5 ปรับตัวลดลง จาก 97.3 ในเดือนกันยายน โดยมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมถึง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-กลุ่มฮามาส 

หากยืดเยื้อและขยายเป็นวงกว้าง อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลกและความผันผวนของราคาพลังงานในตลาดโลก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังกังวลต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น รวมถึงผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

นายเกรียงไกร ยังมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ประกอบด้วย  

  • เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 อาทิ นำโครงการ e-refund มาเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนธันวาคม 2566 เพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายของประชาชน
  • เร่งรัดการกำหนดมาตรการในการพักหนี้ให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) เป็นระยะเวลา 1 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นหนี้เสียจากโควิด-19 หรือลูกหนี้รหัส 21 รวมทั้งออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและส่งเสริมให้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น
  • ขอให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคี พิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่