สรุปมติครม. เคาะ 5.6 หมื่นล้าน จ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท

14 พ.ย. 2566 | 09:34 น.

สรุปมติครม. วันนี้ เห็นชอบ จ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ภายใต้ มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 ใช้งบประมาณ จ่ายขาด 56,321.07 ล้านบาท เช็ครายละเอียดที่นี่

วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2566) น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 คือ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงินงบประมาณจ่ายขาด 56,321.07 ล้านบาท หรือ จ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ

สำหรับกรอบวงเงินที่รัฐต้องชดเชยค่าใช้จ่ายหรือสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดยคำนึงถึงขอบเขตที่รัฐสามารถรับภาระได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากข้อจำกัดของกรอบวงเงินตามมาตรา 28 ดังกล่าว 

โดยค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและเป็นภาระต่องบประมาณนั้น ให้ ธ.ก.ส. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริงตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

 

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สำหรับรายละเอียดการจ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท มีดังนี้

  • กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ 
  • ส่งรายชื่อเกษตรกรให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกร 
  • การจ่ายเงินกำหนดจ่ายในอัตราไร่ละ 1,000 บาท 
  • ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท  

สำหรับวงเงินงบประมาณ 56,321.07 ล้านบาท จำแนกเป็น 

  1. งบประมาณจ่ายขาดให้เกษตรกร แหล่งเงินทุน ธ.ก.ส. วงเงิน 54,336.14 ล้านบาท 
  2. ค่าใช้จ่ายดำเนินการ ธ.ก.ส. วงเงิน 1,984.93 ล้านบาท

 

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ก่อนหน้านี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า จ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท รัฐบาลเร่งรัดให้ธนาคารเพื่อการเกษตรจ่ายเงินเกษตรกรเร็วสุดภายในวันจันทร์ที่ 20 พ.ย. 2566  หรืออย่างช้าสุดภายใน 1 เดือนหลัง ครม. มีมติอนุมัติ

ส่วนกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่า จะมีการแบ่งจ่ายเป็น 2 งวดนั้น รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม.ไม่ได้มีการหารือถึงกรณีดังกล่าว