“รฟท.” จ่อถกเอกชน ลงทุนสร้างพื้นที่ทับซ้อน เคลียร์ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

13 พ.ย. 2566 | 11:44 น.

“รฟท.” เดินหน้าถกเอกชน ลงทุนสร้างไฮสปีดไทย-จีน หลังทับซ้อนร่วมไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เร่งปิดดีลข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ ลุ้นครม.เคาะเพิ่มวงเงินแก้สัญญาร่วมทุน เตรียมลงนามสัญญา 4-5 งานโยธา 1.03 หมื่นล้านบาท ตอกเสาเข็มทางวิ่งสถานีอยุธยาก่อน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ระยะทาง 250.77 กิโลเมตร (กม.) ว่า ส่วนของสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง วงเงิน 19,000 ล้านบาท ซึ่งยังมีประเด็นปัญหาการทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) นั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการเจรจากับเอกชนผู้รับจ้าง จากนั้นจะเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) คาดว่า จะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปี 2566 

 

“ล่าสุด มีแนวโน้มว่าพื้นที่บริเวณทับซ้อนร่วมกับไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน จะให้ รฟท. เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเอง เพื่อไม่ให้โครงการมีความล่าช้า ทั้งนี้ จากการหารือกับเอกชนในเบื้องต้น ถึงแนวทางดังกล่าว ทางภาคเอกชนไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด ส่วนงบประมาณจะมากจากแหล่งใดนั้น จะต้องมาพิจารณาคำนวนอีกครั้ง อาทิ การใช้งบประมาณบางส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน หรือจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน หรือหากจะต้องใช้เงินกู้ และอาจจะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินเพื่อให้ รฟท. นำมาดำเนินการ”
 

ทั้งนี้การปรับแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการต่อไป โดยคาดว่า จะเสนอ ครม. ได้ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับการเปิดให้บริการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 นั้น คาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2571 หรือเป็นไปตามแผนเดิมที่กำหนดไว้

 

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า ส่วนของงานสัญญาที่ 4-5 งานโยธา ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. วงเงิน 10,325 ล้านบาท ขณะนี้ อยู่ระหว่างรอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาตามที่มีการแก้ไขปรับปรุงไปแล้ว โดยคาดว่า จะสามารถลงนามสัญญากับบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ในฐานะผู้รับจ้างได้ภายใน พ.ย. 2566 ก่อนที่จะออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป

 

“การก่อสร้างสถานีอยุธยานั้น ปัจจุบันการจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) ของแหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้ผ่านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการเสนอรายงานไปยังหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศประมาณ 9 หน่วยงาน และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ปัญหาการก่อสร้างสถานีอยุธยายังไม่ได้ข้อยุติ รฟท. จะยังไม่ดำเนินการก่อสร้างสถานีอยุธยา แต่เมื่อ รฟท. ลงนามสัญญากับผู้รับจ้างแล้ว ก็จะให้ดำเนินการก่อสร้างทางวิ่งไปก่อน”
 

รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันภาพรวมการก่อสร้างโครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท มีความคืบหน้าประมาณ 27.39% ล่าช้ากว่าแผน 48.98% โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. และสัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ระยะทาง 12.2 กม. คืบหน้า 42.18%

 

สัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.1 กม. คืบหน้า 35.60%, สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.4 กม. คืบหน้า 67.32%, สัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.3 กม. คืบหน้า5.30%

 

สัญญาที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กม. คืบหน้า 0.24%, สัญญาที่ 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพระยะทาง 23 กม. คืบหน้า 21.30%, สัญญาที่ 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย คืบหน้า 0.85% สัญญาที่ 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.6 กม. คืบหน้า 0.38% และสัญญาที่ 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.9 กม. คืบหน้า 47.22% นอกจากนี้อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง 1 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.2 กม.