รฟท.กางแผนคืบหน้า 14 สัญญา สร้างไฮสปีดไทย-จีน 1.79 แสนล้าน

22 ต.ค. 2566 | 08:46 น.

รฟท.เปิดแผนคืบหน้าไฮสปีดไทย-จีน 14 สัญญา 1.79 แสนล้านบาท ลุ้นลงนาม 2 สัญญา หลังติดหล่มพื้นที่ทับซ้อนไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน-ปรับแบบทางเลี่ยงพื้นที่มรดกโลก

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) ตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ระยะ(เฟส)ที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนรวม 179,412 ล้านบาท แบ่งงานก่อสร้างโยธาเป็น 14 สัญญา ปัจจุบันความคืบหน้าภาพรวมของโครงการ อยู่ที่ 27% ตามแผนคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2571 ทั้งนี้มี 2 สัญญา ที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ประกอบด้วย สัญญา 1-1 กลางดง - ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร (กม.) ,สัญญา 2-1 สีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร (กม.) 

 

ส่วนอีก 9 สัญญา อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ประกอบด้วย สัญญา 3-2 อุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง12.23 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 4,279 ล้านบาท โดย บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการ ผลงาน 35.32% ,สัญญา 3-3 บันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง21.60 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 9,838 ล้านบาท โดย บจ.ไทย เอ็นยิเนียร์ และอุตสาหกรรมผลงาน 30.57%, สัญญา 3-4 ลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โครกกรวด ระยะทาง 37.45 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 9,848 ล้านบาท โดยบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์  ผลงาน 63.54%, สัญญา 3-5 โคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 7,750 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้า SPTK (บ.นภาก่อสร้าง ร่วมกับบริษัทรับเหมาประเทศมาเลเซีย) ผลงาน 4.88%
 

สัญญา 4-2 ดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 10,570 ล้านบาท โดย บมจ.บริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น ผลงาน 0.21% ,สัญญา 4-3 นวนคร-บ้านโพ ระยะทาง23 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 11,525.35 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้า CAN (บจ.เอ.เอสแอสโซศซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964), บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด ผลงาน 18.02% 

 

สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ระยะทาง 2.3 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6,573 ล้านบาท โดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ผลงาน 0.17%, สัญญา 4-6 พระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 9,429 ล้านบาท โดย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ผลงาน 0.34% ,สัญญา 4-7 สระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 8,560 ล้านบาท โดย บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง ผลงาน 44.19%
 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ขณะที่อีก 1 สัญญา อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง คือ สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดงและช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 9,348 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้า ITD โดยรฟท.ได้ลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ตามแผนอีก 2 สัญญา รฟท.กางแผนคืบหน้า 14 สัญญา สร้างไฮสปีดไทย-จีน 1.79 แสนล้าน ที่ยังไม่ได้ลงนามสัญญา ประกอบด้วย สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 18,000 ล้านบาท คาดว่าดำเนินการได้ในปี 2566 ส่วนสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว วงเงิน 9,913 ล้านบาท โดยบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จะสามารถลงนามได้ภายในเดือนกันยายน – ตุลาคมนี้ ขณะที่ความคืบหน้างานระบบฯ สัญญา 2.3 งานระบบฯ วงเงิน 50,633 ล้านบาท ได้ลงนามสัญญาแล้วเมื่อ 28 ตุลาคม 2563 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์งานระบบเพื่อดำเนินการต่อไป

 

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กล่าวว่า ความคืบหน้าสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาร่วมกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เนื่องจากสัญญาดังกล่าวมีพื้นที่ทับซ้อนร่วมกับไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าจะดำเนินการเจรจาให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ทั้งนี้ตามมติกพอ.ระบุว่าหากเจรจาร่วมกันไม่ได้จะให้รฟท.เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างทางร่วมแทน 

 

“สาเหตุที่การเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากเอกชนยังมีข้อกังวลในเรื่องแหล่งเงินทุน ซึ่งจากการเจรจาในช่วงที่ผ่านมารัฐไม่ได้เป็นผู้ออกค่าก่อสร้างทางร่วม แต่ให้ทางเอกชนเป็นผู้รับภาระแทนรัฐ ทั้งนี้เอกชนต้องการขอรับเงินอุดหนุนเร็วขึ้น หากให้ดำเนินการจ่ายค่าก่อสร้างไปก่อนอาจจะทำให้มีปัญหาทางด้านการเงิน ทำให้การเจรจาในเรื่องนี้ยังไม่สามารถตกลงร่วมกันได้”

 

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า กรณีที่นักการเมืองระบุว่า อยุธยากำลังจะถูกยูเนสโกถอดออกจากการเป็นเมืองมรดกโลก เพราะรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่ากลางเมืองนั้น ขณะนี้สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร(กม.) ซึ่งเป็นช่วงที่ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น ได้ผ่านขั้นตอนทางกฎหมายทั้งหมดแล้ว โดยเฉพาะรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) แล้ว

 

“รถไฟไฮสปีดไม่ได้วิ่งผ่ากลางเมือง อยู่ห่างจากพื้นที่มรดกโลกค่อนข้างมาก อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมานั้นเป็นเรื่องความสูงของสถานีอยุธยา ไม่ได้เกี่ยวกับการวิ่งผ่ากลางเมือง แต่เป็นเรื่องความสูง ทาง รฟท. ได้ดำเนินการปรับแบบแล้วเสร็จ ในส่วนของการก่อสร้างสัญญาที่ 4-5 นั้น รฟท. เตรียมรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อนลงนามสัญญากับผู้รับจ้างต่อไป ขณะนี้สำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งร่างสัญญาฯ กลับมายัง รฟท. แล้ว  โดยรฟท.จะหารือประเด็นการสร้างสถานีอยุธยากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมด้วย”