แจกเงินดิจิทัล 10000 บาท ล่าสุด จ่อปรับคำนิยามไม่ใช้ “กระตุ้นเศรษฐกิจ”

04 พ.ย. 2566 | 19:54 น.

นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เตรียมได้ข้อสรุปในสัปดาห์หน้า หลังจากนายกฯ แย้มมาแล้วว่าจะเคลียร์ให้จบในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 นี้ วงในรับอาจปรับคำนิยมไม่ใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และ กระตุ้นการใช้จ่าย

การผลักดันนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” เตรียมได้ข้อสรุปเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการแล้ว ภายหลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เตรียมนัดประชุมอีกครั้งเป็นนัดที่สองในช่วงสัปดาห์หน้า

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะมีการพิจารณารายละเอียดโครงการทั้งหมด ภายหลังนายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะของประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้หารือหน่วยงานต่าง ๆ จนได้ข้อสรุปเกี่ยวกับเงื่อนไข หลักเกณฑ์ รวมไปทั้งแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการเบื้องต้นแล้ว

สำหรับรายละเอียดเบื้องต้นของการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท คณะอนุกรรมการฯ ได้มีการหารือถึงการปรับเปลี่ยนคำนิยามของการดำเนินโครงการใหม่จากเดิมรัฐบาลเป็นนโยบาย “เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย” เปลี่ยนเป็น “เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ” แทน 

โดยการปรับเปลี่ยนคำนิยมของโครงการครั้งนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของโครงการใหม่ และในเชิงการเมืองยังสามารถลดแรงกดดันจากการจัดทำนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนับเป็นวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาด้วย

 

ภาพประกอบข่าว การผลักดันนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน”

 

พร้อมกันนี้ในการหารือของคณะอนุกรรมการฯ ยังได้พิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับเงื่อนไขหลายอย่างสำหรับการเข้าร่วมโครงการด้วย โดยเฉพาะในกรณีของร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการนั้น มีการเสนอเงื่อนไขการใช้เงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะกำหนดว่า ผู้ที่ได้รับเงินดิจิทัลสามารถนำเงินดิจิทัลไปใช้ได้กับสินค้าตามที่ระบุไว้เท่านั้น โดยที่ไม่สามารถนำมาใช้กับ “บริการ” ต่าง ๆ ได้ ด้วยเหตุนี้จึงอาจทำให้กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ต่าง ๆ ไม่สามารถร่วมในโครงการ และใช้เงินดิจิทัลได้

สำหรับบริการต่าง ๆ อาจเข้าข่ายว่าไม่สามารถนำเงินดิจิทัลมาใช้ได้นั้้น แหล่งข่าวบอกกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการอิสระ มีตัวอย่างเช่น ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย ร้านนวด สปา ร้านซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่าง ๆ และบริการล้างรถ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่คาดว่าจะสามารถใช้เงินดิจิทัลได้นั้น รัฐบาลกำหนดรายละเอียดไว้เบื้องต้นว่า จะเน้นไปที่สินค้าในกลุ่มที่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งใช้ในชีวิตประจำวันเป็นหลัก

 

ภาพประกอบข่าว การผลักดันนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล

ขณะที่การกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ มีความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลจะปรับปรุงเงื่อนไขเกี่ยวกับรัศมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัล จากเดิมที่รัฐบาลกำหนดแนวทางเอาไว้ว่าให้ใช้ในรัศมี 4 กิโลเมตร ตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในพื้นที่ และทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เกิดเงินหมุนเวียนลงไปนั้น 

เบื้องต้นจะปรับเงื่อนไขเป็นสามารถใช้จ่ายในระดับอำเภอ ตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านแทน โดยในกรณีนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ยอมรับว่า อาจมีการปรับเปลี่ยน เพราะจะช่วยแก้ปัญหาบางพื้นที่ที่ไม่ได้รับความสะดวกจากการดำเนินนโยบายด้วย

พร้อมกันนี้คณะอนุกรรมการฯ จะเสนอทางเลือกอื่น ๆ ในการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ นอกเหนือไปจากการแจกแบบถ้วนหน้าตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน ใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาท ภายหลังจากได้รับข้อสังเกตจากหลายหน่วยงานในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ว่า การแจกเงินดิจิทัล มีความเป็นไปได้หรือไม่ในการเลือกแจกให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย หรืออาจต้องตัดกลุ่มคนรวย หรือผู้ที่มีรายได้สูงออกจากโครงการไป เพื่อลดกรอบวงเงินของโครงการลงจากเดิม 

โดยทางเลือกที่คณะอนุกรรมการฯ เตรียมเสนอนั้น มี 3 แนวทางประกอบด้วย 

  1. ให้เฉพาะกลุ่มที่เคยลงทะเบียนคนจน จำนวน 15-16 ล้านคน ต้องใช้งบประมาณ 150,000-160,000 ล้านบาท 
  2. กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน จำนวน 43 ล้านคน และมีเงินฝากในบัญชีเกิน 1 แสนบาท ต้องใช้งบประมาณ 430,000 ล้านบาท 
  3. กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน จำนวน 49 ล้านคน และมีเงินฝากในบัญชีเกิน 5 แสนบาท ต้องใช้งบประมาณ 490,000 ล้านบาท

 

ภาพประกอบข่าว การผลักดันนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน”

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ล่าสุดถึงความคืบหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet  โดยนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า รัฐบาลไม่มีความคิดที่จะถอยหลัง และต้องทำออกไปให้ดีที่สุด และถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้คนได้รับผลประโยชน์สูงสุด และอยากให้สาธารณชนเข้าใจด้วยว่าระบบนี้วิธีการนี้ ไม่มีการคอร์รัปชัน ขณะที่เชิงปฏิบัติไม่มีที่ให้ประชาชนต้องสงสัยว่าใครได้อะไร

พร้อมระบุว่า ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 นี้ จะรู้เรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ทั้งที่มาที่ไปทุกอย่าง ขั้นตอน ไทม์ไลน์ และกฎกติกาที่ชัดเจนต่อไป