2 พ.ย.นี้ สมาคมรถโดยสารฯ บุกกระทรวงพลังงาน ลดค่าก๊าซ NGV

30 ต.ค. 2566 | 07:50 น.

2 พ.ย.นี้ สมาคมรถโดยสารสาธารณะ จ่อบุกกระทรวงพลังงาน วอนภาครัฐลดค่าก๊าซ NGV 5-6 บาทต่อกก. หลังแบกต้นทุนเชื้อเพลิงเดินรถอ่วม

รายงานข่าวจากสมาคมรถตู้โดยสารสาธารณะ กรุงเทพฯ ปริมณฑล แจ้งว่า วันที่ 2 พ.ย.นี้ เวลา 09.00 น. นายปัญญา เลิศหงิม นายกสมาคมรถตู้โดยสารสาธารณะ กรุงเทพฯ ปริมณฑล พร้อมด้วยนางรุ่งเรือง ทองคำ เลขาธิการสมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัด นายบรรยงค์ อัมพรตระกูล ประธานสหพันธ์รถเมล์ กทม. และปริมณฑล และผู้ประกอบการรถรถตู้ รถมินิบัส รถเมล์ รถโดยสาร และ รถสองแถวทั่วประเทศ 

 

สำหรับการบุกกระทรวงพลังงานในครั้งนี้จะนำรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ประมาณ 500-600 คัน ไปที่กระทรวงพลังงาน เพื่อกดดันขอเข้าพบนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เพื่อขอให้มีมาตรการช่วยเหลือราคาก๊าซธรรมชาติอัดสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ
 

ที่ผ่านมาตั้งแต่มีการใช้ก๊าซเอ็นจีวี ในประเทศไทยประมาณปี 2548 เป็นต้นมา ในทุกครั้งที่มีมาตรการให้ส่วนลดราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวี สำหรับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ได้แก่ รถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รถตู้ รถมินิบัส และรถสองแถว จะได้รับส่วนลดในอัตราเดียวกันมาโดยตลอด จนมาตรการช่วยเหลือที่เริ่มตั้งแต่ปี 2554 สิ้นสุดลง

 

หลังจากนั้นเกิดการระบาดโควิด-19 รุนแรงมากขึ้นในช่วงต้นปี 2563 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ซึ่งมี รมว.พลังงานเป็นประธาน ทราบความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ประกอบการรถสาธารณะที่มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการลดลงอย่างมาก จึงเห็นชอบให้ปรับราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวี สำหรับรถโดยสารสาธารณะทั้งหมด ประกอบด้วย รถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รถตู้ รถมินิบัส และรถสองแถว ลดลง 3 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 ก.ค.2563 หลังจากนั้นไม่ได้ขยายระยะเวลาช่วยเหลือต่อ
 

ขณะเดียวกันรถแท็กซี่นำรถมาจอดปิดกระทรวงพลังงาน ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.2564 เริ่มช่วยเหลือด้วยโครงการเอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน สำหรับรถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยลดราคาค่าก๊าซเอ็นจีวีเหลือ 13.62 บาทต่อกก. จากเดิมที่มีราคา 15.59 บาทต่อกก. ตั้งแต่ 1 พ.ย.64 

ต่อมาตรการช่วยเหลือมาโดยตลอดจนถึง 30 มิ.ย.2566 โดยไม่มีการช่วยเหลือรถโดยสารสาธารณะอื่น ซึ่งได้รับความเดือดร้อนอย่างมากเช่นกัน การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวส่งผลให้รถโดยสารสาธารณะประเภทอื่นๆ ยังประสบความเดือดร้อนอย่างมาก ในราคาก๊าซเอ็นจีวีที่มีราคาสูงอย่างต่อเนื่อง จนผู้ประกอบการบางรายต้องเลิกอาชีพหรือเลิกกิจการ ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถใช้บริการรถสาธารณะในบางเส้นทางได้แล้ว

 

ทั้งนี้ในปัจจุบันผู้ประกอบการรถสาธารณะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังไม่ฟื้นตัว และรายได้ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ผู้ประกอบการบางรายยังไม่เลิกกิจการต้องประคับประคองธุรกิจอยู่รอด แต่ต้องเจอปัญหาภาระหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีมาตรการให้ทำบัตรสิทธิประโยชน์ กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ แบ่งเป็นรถแท็กซี่ และรถโดยสารสาธารณะที่เหลือทั้งหมด โดยให้รถแท็กซี่ได้รับการตรึงราคาก๊าซเอ็นจีวีที่ 14.62 บาทต่อกก. 

 

นอกจากนี้ให้รถโดยสารสาธารณะที่เหลือทั้งหมด ประกอบด้วย รถโดยสารประจำทางขนาดใหญ่ รถตู้โดยสาร รถมินิบัส รถไมโครบัส และ รถสองแถว ได้รับการตรึงราคาก๊าซเอ็นจีวีที่ 18.59 บาทต่อกก. มาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลง 31 ธ.ค.2566

 

สำหรับผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทเห็นว่า การออกมาตรการช่วยเหลือโดยให้กลุ่มรถแท็กซี่และกลุ่มรถโดยสารสาธารณะอื่นๆ ที่ได้รับมาตรการช่วยเหลือที่ไม่เท่ากัน เป็นการดำเนินการที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เนื่องจากรถโดยสารประจำทางต้องแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงมากกว่าแท็กซี่ เพราะต้องเดินรถตามเส้นทางไม่ว่าจะมีผู้โดยสารหรือไม่ ที่สำคัญรถโดยสารประจำทางมีค่าโดยสารต่ำกว่าแท็กซี่และมีความจำเป็นสำหรับการเดินทางของประชาชน รวมไปถึงมีผู้โดยสารน้อย

 

ดังนั้นผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะจึงขอเข้าพบเพื่อหารือใน 5 ข้อ ดังนี้

 

 1.ชี้แจงเกี่ยวกับความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ
 2.ขอให้มีมาตรการช่วยเหลือราคาก๊าซเอ็นจีวี สำหรับกลุ่มรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทอย่างเหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนเดินรถที่แท้จริง เนื่องจากปัจจุบันต้องจ่ายค่าก๊าซเอ็นจีวีอยู่ที่ 19.59 บาทต่อกก. จึงขอให้ปรับลดเหลือ 13-14 บาทต่อกก. หรือลด 5-6 บาทต่อกก. 
3.ชี้แจงปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดปริมาณก๊าซเอ็นจีวีที่สามารถได้รับการตรึงราคาสำหรับรถแต่ละประเภท 4.ชี้แจงปัญหาการได้รับบัตรสิทธิประโยชน์ล่าช้า และขอให้มีระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือถึงเดือน ธ.ค.2567 
5.ชี้แจงประเด็นปัญหาเกี่ยวกับกรณีที่ไม่สามารถเพิ่มเติมรถที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ในภายหลังได้