กทม.ดันแผนปรับปรุงทางเท้า 16 เส้นทาง พลิกโฉม “กรุงเทพเมืองเดินได้ -เดินดี”

29 ต.ค. 2566 | 02:43 น.

ดันแผนปรับปรุงทางเท้า 16 เส้นทาง พลิกโฉม “กรุงเทพเมืองเดินได้ เดินดี” พบปัญหาถนน ทางเท้าชำรุด อันดับ 1 ที่ประชาชนต้องการให้ผู้ว่าฯกทม. แก้ไขด่วน

 

 

การพัฒนาเมืองเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อยากเห็นเมืองที่ดี เมืองที่เดินได้ จากโครงการ "กรุงเทพเมืองเดินได้ เมืองเดินดี" ให้มาบอกเล่าทิศทางของกรุงเทพมหานคร ว่าจะทำเรื่องนี้อย่างไร”

รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปาฐกถาพิเศษ งาน GOODWALK FORUM THAILAND 2023: ก้าวสู่ทศวรรษแห่งการพัฒนาเมือง ด้วยยุทธศาสตร์เมืองเดินได้-เมืองเดินดี เมื่อไม่นานมานี้ว่า

 นับแต่ช่วงครุ่นคิดค้นหาปัญหาชาวบางกอกมาปอกเป็นแคมเปญในการลงเลือกตั้งของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยังไม่ได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยจากการสืบเสาะสำรวจพบว่า ปัญหาถนนและหนทางเท้าชำรุดนั้นเป็นเรื่องอันดับ 1 ที่ประชาชนต้องการให้ผู้ว่าฯ แก้ไขอย่างเร่งด่วน

ดังนั้นจึงกำเนิดเป็น “เดินทางดี” 1 ในดี 9 ด้านของนโยบาย กระทั่งหลังได้รับตำแหน่ง ปัญหาทางเท้ายังเป็น Pain Point อันดับ 3 จาก การรับเรื่องร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue ของชาวกรุงที่มุ่งต้องการให้แก้ไข โดยแยกย่อยได้เป็นปัญหา 3 ด้าน คือ ความไม่สะดวก (ชำรุด, สิ่งกีดขวาง) ความไม่ปลอดภัย (ไฟส่องสว่าง, ขับขี่บนทางเท้า) ความไม่น่าเดิน (ไม่สะอาด) เป็นกุญแจสำคัญที่จะไขแก้ปัญหาทางเท้าให้ชาวกรุงเทพมหานคร

รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล

คำว่า “เดินทางดี” เรามองที่ “คน” ไม่ได้มองที่ “รถ” การทำนโยบายเดินทางดี ไม่ได้แก้เรื่องรถติด แต่จะทำให้คนเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งสะดวกขึ้น คือ First & Last  Mile Traveling เมตรแรกดีอย่างไร เมตรสุดท้ายต้องดีอย่างนั้น สำหรับทางเท้าดี จากกว่า 200 นโยบาย มี 5 นโยบายหลักที่ปักหมุดไว้

เพื่อชุบชีวิตทางเท้าให้ชาวกรุงคือ กรุงเทพฯ เดินได้ พัฒนาทางเดินเท้าคุณภาพ 1,000 กม. , สร้างซ่อมดี เพื่อทางเท้าคุณภาพและคงทน , ทางตัดผ่านใหม่ต้องเรียบเสมอทางเท้า ตรวจสอบและปรับปรุงทางข้ามทั้งกรุงเทพฯ ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย และ BKK Trail เส้นทางวิ่งดี ออกกำลังกายดี = เดินได้ดี

 

1 ปีที่ผ่านมาและจากนี้อีก 3 ปีข้างหน้า กทม. จะยึด 5 แนวทางในการพัฒนาปรับปรุงทางเท้า คือ เข็มหนึ่ง แก้ไขตามประเด็นเรื่องร้องใน Traffy Fondue = ซ่อมแซมเป็นจุดตามความเสียหาย เข็มสอง แนว BKK Trail 500 กม. = รับฟังเสียงเสนอเส้นทางจากอาสาสมัครนักวิ่ง พร้อมเข้าซ่อมแซมเป็นจุดและย้ายสิ่งกีดขวางออกจากทางเดิน เข็มสาม รัศมี 500 เมตรรอบสถานีรถไฟฟ้า = ทางเท้าต้องดี  เข็มสี่ เส้นทางที่มีคนสัญจรหนาแน่น ตามข้อมูล Heatmap ที่เก็บได้นอกเหนือจากรัศมีรถไฟฟ้า = ซ่อมแซมเร่งด่วน และปรับปรุงทั้งเส้นกรณีเสียหายเกิน 70%

เข็มห้า คืนสภาพจากหน่วยงานสาธารณูปโภค = ติดตามเร่งรัดการจัดการสาธารณูปโภคที่ทำให้กำเนิดเกิดผลกับพื้นผิวจราจรและทางเท้า ไม่ว่าจะเป็น ประปา ไฟฟ้า การนำสายไฟลงดิน ที่กทม. เองก็ต้องขอความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในการเร่งรัดจัดการให้เสร็จและขอคืนพื้นที่เหมือนที่หนุ่ม ๆ ทวงคืนแพตตี้ จากแดน วรเวช

โดยในปีงบประมาณ 2566 กรุงเทพมหานครยังได้มีแผนปรับปรุงทางเท้า 16 เส้นทาง คือ

1. งานปรับปรุงคันหินทางเท้าและผิวจราจรถนนอุดมสุข ช่วงจากถนนสุขุมวิท ถึงถนนศรีนครินทร์

2. งานปรับปรุงคันหินทางเท้าและผิวจราจรถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำช่วงจากทางเข้าคลังน้ำมัน ปตท. ถึงสุดเขตพื้นที่กทม.

3. งานปรับปรุงคันหินทางเท้าและผิวจราจรถนนสรรพาวุธ ช่วงจากซอยสรรพาวุธ 1 ถึงวัดบางนานอก

4. งานปรับปรุงทางเท้าถนนราชดำริ ช่วงจากแยกราชประสงค์ ถึงแยกศาลาแดง

5. งานปรับปรุงทางเท้าถนนโชคชัย 4 ช่วงจากถนนลาดพร้าว ถึงถนนโชคชัย 4 แยก 84

6. งานปรับปรุงทางเท้าถนนมหาดไพย (ซอยลาดพร้าว 122 และซอยรามคำแเหง 65)  ช่วงจากถนนลาดพร้าว ถึงถนนรามคำแหง

7. งานปรับปรุงผิวจราจรและทางเท้าถนนเยาวราช ช่วงจากวงเวียนโอเดียน ถึงคลองโอ่งอ่าง

8. งานปรับปรุงคันหินและทางเท้าถนนเทศบาลสงเคราะห์ ช่วงจากถนนกำแพงเพชร 6 ถึงสะพานข้ามคลองประปา

9. งานปรับปรุงคันหินและทางเท้าถนนเสนานิคม 1 ช่วงจากถนนพหลโยธิน ถึงสะพานข้ามคลองลาดพร้าว

10. งานปรับปรุงทางเท้าถนนเพลินจิต ช่วงจากแยกราชประสงค์ ถึงทางรถไฟสายท่าเรือ

11. งานปรับปรุงทางเท้าถนนสีลม ช่วงจากแยกนราธิวาสราชนครินทร์ ถึงถนนเจริญกรุง

12. งานปรับปรุงทางเท้าถนนพระรามที่ 4 ช่วงจากหัวลำโพง ถึงทางเข้าออกสวนลุมพินี 3

13. งานปรับปรุงคันหินและทางเท้าถนนพระรามที่ 4 ช่วงจากคลองไผ่สิงห์โต ถึงถนนเกษมราษฎร์ และจากซอยแสนสบาย ถึงถนนสุขุมวิท

14. งานปรับปรุงคันหินและทางเท้าถนนเอกมัย ช่วงจากถนนสุขุมวิท ถึงสะพานข้ามคลองแสนแสบ

15. งานปรับปรุงทางเท้าถนนราชปรารภ ช่วงจากถนนศรีอยุธยาถนนพหลโยธิน ถึงถนนเพชรบุรี

16. งานจัดซ่อมคันหินและทางเท้า ถนนสุทธิสารวินิจฉัย ถึงถนนวิภาวดีรังสิต

ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตาม การจัดการปัญหาทางเท้าหาใช่แค่การปรับพื้นผิวที่ไม่เผินให้เดินเหินสะดวก แต่มีหลายหลากมิติ ไม่มากน้อยไปกว่ามัลติเวิร์สของจักรวาลมาร์เวล อาทิ รถมอเตอร์ไซค์ขี่ขับบนทางเท้า ตรงจุดนี้ กทม.เริ่มต้นนำเทคโนโลยี ที่แม้ไม่ใช่ระดับ Stark Industries แต่ กทม.เดินหน้าเอาจริง! ใช้ AI จับรถเครื่องวิ่งบนทางเท้า สำหรับหาบเร่แผงลอย

แม้เป็นเรื่องที่จัดการได้ยากยิ่ง แต่กทม.ก็พยายามอย่างจริงจังและจริงใจในการจัดการปัญหาเพราะเห็นแก่ใจทั้งพ่อค้าแม่ค้าและประชาชนคนเดินเท้า  สำหรับเรื่องไฟส่องสว่าง ในนามของ “กรุงเทพฯ ต้องสว่าง” สว่างในความดูแลของกทม. ประมาณ 185,000 ดวง ณ เพลานี้ เปลี่ยนไปแล้วเป็น LED 28,000+ ดวง และเมอคิวรี่/ไฮเพรสเชอร์โซเดียม 46,000 ดวง รวม 74,000+ ดวง และอีกมิติที่สำคัญคือ เดินได้แล้วต้องเดินดี อาหารตาอาหารใจก็ต้องมี การปรับปรุงภูมิทัศน์ ที่กทม. ยังคงทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเติมเต็มกรุงเทพฯ สู่เมืองเดินได้ เมืองเดินดี

โครงการกรุงเทพเมืองเดินได้เดินดี