คลังหั่นจีดีพีปี 66 โต 2.7% หลังนักท่องเที่ยวจีนไม่มาตามคาด

27 ต.ค. 2566 | 05:54 น.

คลังหั่นจีดีพีปี 66 โต 2.7% หลังนักท่องเที่ยวจีนไม่มาตามคาด ปรับประมาณการต่างชาติเที่ยวไทยทั้งปีเหลือ 27.7 ล้านคน คาดปี 67 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.2% พร้อมเกาะติดสถานการณ์เสี่ยง

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ปรับประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 2.7% ลดลงจากช่วงเดือนก.ค.66 คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 3.5%

โดยมีปัจจัยมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคาดว่าจะลดลงมาเหลือ 27.7 ล้านคน จากเดิมประมาณการว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามากว่า 29.5 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาตามคาด เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจของจีน และข้อจำกัดการเดินทาง เป็นต้น

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง

“การประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 66 สอดคล้องกับหน่วยงานระดับสากล และหน่วยงานเศรษฐกิจในประเทศ โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 2.7%  ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 2.8% ซึ่งก็มองอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน”

อย่างไรก็ตาม การปรับประมาณการดังกล่าว ยังเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่องจากปี 65 โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังเป็นปัจจัยในการสนับสนุน คาดมีรายได้จากนักท่องเที่ยวรวมกว่า 1.18 ล้านล้านบาท ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย เกาหลี และอินเดีย ที่ยังเดินทางเข้ามา

นอกจากนี้ ยังมีการบริโภคภาคเอกชน ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดว่าในปีนี้ จะขยายตัวได้ 5.8% ขณะที่การส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะหดตัวที่ -1.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าอยู่ที่ 1.5% ซึ่งยังอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้

ขณะที่ปี 67 นั้น ประมาณการเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.2-4.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.1% ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.4% ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ และคาดว่าการท่องเที่ยวจะมีต่างชาติเข้ามา 34.5 ล้านคน

ทั้งนี้ ประมาณการดังกล่าวยังไม่รวมโครงการต่างๆ ของรัฐที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งตัวเลขประมาณการในปี 67 เป็นการขยายตัวตามกลไกปกติ ซึ่งหากนโยบายของรัฐชัดเจนจะต้องมีการทบทวนอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่

  1. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์สู้รบในอิสราเอลและกาซา ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น ความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเชียและยูเครน และการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและการค้าระหว่างประเทศ
  2. ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
  3. สถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ประสบปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการส่งออกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทย
  4. ปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่อาจทำให้เกิดภัยแล้งในปี 2567 ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร