คพ.แจ้งเตือน 24-25 ต.ค.66 ฝุ่น PM2.5 กทม.-ปริมณฑล มีแนวโน้มสูง

24 ต.ค. 2566 | 01:59 น.
อัพเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2566 | 02:07 น.

คพ.แจ้งเตือน 24-25 ต.ค.66 ฝุ่น PM2.5 กทม. และ ปริมณฑล มีแนวโน้มสูง วัดได้ 12.0 - 38.2 มคก./ลบ.ม.มีค่าเกินมาตรฐาน 1 พื้นที่ พบบริเวณเขตคลองสาน

 

กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 วันที่23 ตุลาคม 2566 พบปริมาณฝุ่นในประเทศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษร่วมกับกรุงเทพมหานคร ที่ตรวจวัดได้ 12.0 - 38.2 มคก./ลบ.ม.มีค่าเกินมาตรฐาน 1 พื้นที่ พบบริเวณเขตคลองสาน

กรมควบคุมมลพิษคาดการณ์ช่วงวันที่ 24-25 ตุลาคม 2566 สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มสูงในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากความกดอากาศสูงที่เริ่มแผ่เข้ามาปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย จึงทำให้เกิดสภาพอากาศที่นิ่ง ความเร็วลมที่มีกำลังอ่อน ฝุ่นละอองไม่สามารถระบายได้ในช่วงเวลาดังกล่าว

อย่างไรก็ตามช่วงวันที่ 25-26 ตุลาคม 2566 จะมีโอกาสเกิดฝนตกในพื้นที่ซึ่งจะช่วยบรรเทาสถานการณ์กรุงเทพมหานครและปริมณฑลลงได้

คพ.แจ้งเตือน

 

ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มีฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง  ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ ทั้งนี้ สามารถติดตามตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ได้ทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน Air4thai และ AirBKK

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันนี้ 20 ตุลาคม 2566 พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 กรุงเทพมหานคร ปี 2567  โดยพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า

รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน  เพื่อเป็นกลไกเร่งรัดการดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่น PM2.5 และขณะนี้กรุงเทพมหานคร ใกล้จะเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ฝุ่น และปีหน้าปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลให้แล้งมากขึ้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เตรียมมาตรการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝุ่น ทั้งการควบคุมไฟในป่า การเผาในพื้นที่เกษตร และการควบคุมการเกิดฝุ่นในพื้นที่เมืองอย่างกรุงเทพมหานครไว้แล้ว สิ่งที่สำคัญคือ ต้องนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเร่งด่วน อย่างทันที

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การควบคุมแหล่งกำเนิดของฝุ่นมาจากยานพาหนะ กระทรวงคมนาคม ตำรวจจราจร กระทรวงพลังงาน กรมควบคุมมลพิษ และกรุงเทพมหานคร เข้มงวดการตรวจสอบ/ตรวจจับรถควันดำโดยเฉพาะการเข้ามาในเขตเมืองชั้นใน การตรวจสภาพรถยนต์ กวดขันวินัยจราจร พื้นที่ก่อสร้าง ต้องสนับสนุนประชาชนในการบำรุงรักษารถ การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าและรถสาธารณะ การนำน้ำมันยูโร 5 มาใช้อย่างเต็มพื้นที่

กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องควบคุมโรงงานทุกแห่งที่มีความเสี่ยงสูงในการปล่อยฝุ่น สำหรับพื้นที่รอบนอก ขอให้กรุงเทพมหานครสนับสนุนเกษตรกรช่วยกันไม่เผาตอซังฟางข้าว สุดท้ายต้องมีการสื่อสารเชิงรุก ตรงจุด ต่อเนื่อง บ่อยครั้ง ทั้งช่วงก่อน ระหว่าง และหลังสถานการณ์ การแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นต้องทั่วถึง เท่าเทียม ทันท่วงที เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้อง

โดยปีนี้ภาครัฐได้เตรียมการอย่างรวดเร็วก่อนสถานการณ์ฝุ่น และพร้อมดำเนินการอย่างเต็มที่ แต่พวกเราต้องรวมพลังกันทุกภาคส่วน รวมถึงพี่น้องประชาชน เพื่อให้เราสามารถรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นที่คาดว่าจะรุนแรงได้

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า แหล่งกำเนิดหลักในกรุงเทพมหานครมาจากรถยนต์ดีเซลเกือบ 57% ซึ่งรถบรรทุกและรถปิคอัพ ประกอบกับปีนี้ได้มีการปรับปรุงมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 และดัชนีคุณภาพอากาศที่มีความเข้มขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยซึ่งจะทำให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และในปีนี้ได้ยกระดับมาตรการขึ้นให้มีความเข้มข้นมากกว่าปีที่ผ่านมา

โดยจัดทำเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5  ปี 2567 ซึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมการรับมือฝุ่นละออง ทั้งในเรื่องการส่งเสริมน้ำมันกำมะถันต่ำ ทำให้ฝุ่นลดลง การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อยกลับการเผาในพื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า เร่งนำระบบ GAP PM2.5 Free มาใช้ และส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดการเผา

 

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ กล่าวว่า พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นย้ำ นโยบาย 4 ข้อ คือ “แม่นยำ รวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ”  แม่นยำ เตือน ให้ข้อมูลต้องแม่นยำ โดยต้องเน้นสื่อสารสร้างการรับรู้  รวดเร็ว หน่วยงานเตรียมและดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที เมื่อเกิดภาวะวิกฤตต้องดูแลประชาชนได้ทันที เช่น ห้องปลอดฝุ่น WFH และมีประสิทธิภาพ