“สมชัย”เตือนสติรัฐบาล แจกเงินดิจิทัล ทำนโยบายเศรษฐกิจอย่างรับผิดชอบ

23 ต.ค. 2566 | 01:10 น.

ดร.สมชัย จิตสุชน เตือนสติ รัฐบาลแจกเงินดิจิทัล ทำนโยบายเศรษฐกิจอย่างรับผิดชอบ แนะควรประเมิน 3 ระดับ ก่อนลงมือทำจริง

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ออกมาเตือนสติรัฐบาลแจกเงินดิจิทัล สะท้อนผ่านการประเมิน 3 ระดับ ดร.สมชัย ระบุว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นนโยบายเรือธงของพรรคแกนนำรัฐบาล มีวัตถุประสงค์ไม่เพียงกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ต้องการพลิกโฉมเศรษฐกิจประเทศไทยไปสู่บริบทใหม่ที่เครื่องยนต์ต่างๆ นอกจากการบริโภคติดเครื่อง เช่น มีการลงทุนอย่างกว้างขวางในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในหมู่รากหญ้า ทำให้ตั้งตัวได้จากที่ไม่กล้าลงทุนมาก่อนเพราะมีข้อจำกัดด้านเงินทุนในอดีต และคาดหวังว่าการลงทุนนี้จะยั่งยืน โดยไม่จำเป็นต้องแจกเงินลักษณะเดียวกันเป็นระยะไปเรื่อย ๆ

วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้นี้หากสำเร็จย่อมเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ทั้งในมิติที่ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เศรษฐกิจออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ความเหลื่อมล้ำลดลงเพราะผู้ได้ประโยชน์จากบริโภคและการลงทุนระยะยาวเป็นรากหญ้าและยอดหญ้า จนสามารถละทิ้งอาชีพเดิมที่ทำอยู่ไม่ว่าจะเป็นรับจ้างรายวัน เกษตรกร กลายเป็นผู้ประกอบการรายย่อยรายใหม่ ที่มีรายได้กำไรจากการลงทุนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

ประโยชน์อีกมิติ คือ ประเทศไทยสามารถแสดงเป็นตัวอย่างที่น่าทึ่งให้กับประชาคมชาวโลกได้อย่างภาคภูมิว่าสามารถแก้ปัญหากับดักประเทศรายได้ต่างปานกลางได้ด้วยวิธีที่ง่าย ๆ แบบนี้ได้ และด้วยต้นทุนที่ถูกมากคือเพียงประมาณ 3% ของ GDP จ่ายครั้งเดียวจบ โดยไม่เคยมีประเทศใดในประวัติศาสตร์ที่เคยคิดถึงและทำได้มาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางผ่านนโยบายที่ทำเป็นระบบ หลากหลาย และต่อเนื่องหลายปี) ซึ่งหากเป็นจริงจะเป็นคุณูปการต่อชาวโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก จะทำให้คนจนหมดไปจากโลกนี้เลยทีเดียวก็เป็นได้

ความเชื่อข้างต้น หากมีความเป็นไปได้สักเพียง 20% ก็คุ้มค่าที่จะลอง เพราะหากสำเร็จจริงผลประโยชน์มหาศาลมาก คำถามสำคัญ คือ ความเป็นไปได้นี้เป็นเท่าไหร่กันแน่ เช่นหากมีความเป็นไปได้เพียง 5% ก็อาจจะต้องถามว่ายังคุ้มกับความเสี่ยงไหม เพราะมีโอกาสอีก 95% ที่เงินก้อนนี้จะเป็นเพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ไม่คุ้มกับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นเป็นภาระของพวกเราและลูกหลานต่อไป

แน่นอนว่าก็สามารถคิดต่อได้เช่นกันว่าผลเลิศที่เล็งไว้ไม่มีทางเป็นไปได้เลย (คือโอกาสสำเร็จ 0%) จึงต้องคิดให้ถ่องแท้ทั้งในเรื่องการประเมินความเป็นไปได้ และแนวทางดำเนินการที่มีความรับผิดชอบต่อเงินภาษีประชาชนหากยังจะทำต่อไป

การประเมินความเป็นไปได้ของนโยบายต่างๆ ทำได้ 3 ระดับ

ระดับแรกและเป็นระดับที่ดีที่สุด คือ เคยมีการใช้นโยบายแบบเดียวกันและประสบความสำเร็จมาแล้วในประเทศอื่น โดยเป็นนโยบายที่มีลักษณะเหมือนกัน100% ทั้งตัวเงื่อนไขมาตรการเอง ระดับโอนเงินที่ใช้เทียบกับรายได้เฉลี่ยของคนในประเทศ บริบทของเศรษฐกิจ จังหวะในวงจรเศรษฐกิจ ทั้ง เศรษฐกิจปกติ วิกฤติ หรือใกล้วิกฤติ ซึ่งแน่นอนว่าไม่เคยมีนโยบายแบบเดียวกันที่เหมือนกันในทุกรายละเอียดและในบริบทประเทศที่เหมือนประเทศไทยทุกประการ แนวทางนี้จึงตกไป

ระดับที่ 2 คือ เคยมีประเทศอื่นที่ทำนโยบายลักษณะไม่เหมือนกันเสียทีเดียวแต่ "ใกล้เคียง" กัน แล้วประสบความสำเร็จ ซึ่งก็โชคร้ายอีกเพราะตัวอย่างนี้ก็หาไม่ได้เช่นกัน เพราะหากมีประเทศใดออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยนโยบายลักษณะใกล้เคียงกัน จ่ายครั้งเดียวจบได้ ผู้คิดนโยบายคงได้รางวัลโนเบลไปหลายรอบแล้ว หากลดมาตรฐานลงมา ว่ามีนโยบายคล้ายกันประสบความสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตขึ้น 1% ต่อปี เป็นเวลาสัก 4-5 ปี คือ ไม่ได้ออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางเสียทีเดียว ก็ยังน่าสนใจที่จะทดลองทำในประเทศไทย น่าเสียดายว่าก็ไม่มีตัวอย่างระดับนี้อีกเช่นกัน และถ้ามีผู้คิดนโยบายก็ยังน่าจะได้รางวัลโนเบลอยู่ดี เพราะยังถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของนโยบายเศรษฐกิจ ที่ใช้เงิน 3% ของ GDP ในการสร้าง GDP มากกว่า 3% หักล้างคำพูดที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในวงวิชาการเรื่อง "ไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ" หรือ there is no free lunch

ระดับที่ 3 เป็นการประเมินโดยอิงจากความเข้าใจที่ลึกซึ้งถึงการตอบสนองของพฤติกรรมมนุษย์ต่อมาตรการนี้ เช่น จะใช้เงินที่ได้รับเท่าไร เก็บออมไว้เท่าไหร่ ใช้หนี้เท่าไหร่ ซึ่งมีวิธีทำได้แน่นอน แม้จะมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นการใช้ซื้อของเท่านั้น เช่น ซื้อของที่เจ้าหนี้ต้องการไปให้แล้วเอามาหักออกจากหนี้ที่ค้างอยู่ เจ้าหนี้ก็ลดการใช้จ่ายเงินตัวเองในส่วนนี้ลง และเชื่อว่ามีอีกสารพัดวิธีที่คนได้รับเงินนี้จะใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์โครงการได้ ตามตัวอย่างที่พบได้ทั่วโลกกรณีการแจกคูปองแลกซื้อของ เช่น แลกเป็นเงินสด ที่มีส่วนลดคือได้ไม่ถึงหมื่นบาท จากร้านค้าที่แกล้งทำรายการว่าได้ขายของให้ เป็นต้น

จะใช้ต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน เงินที่ได้จะมากพอจนเอาไปลงทุนเท่าไหร่ มีกี่คนที่พร้อมจะทิ้งอาชีพเดิมแล้วมาลงทุนจากเงินที่ได้รับเพียงครั้งเดียวนี้ ฯลฯ ซึ่งเรื่องเหล่านี้พอจะหางานวิจัยในประเทศไทยเองที่แยกย่อยทีละประเด็นมาศึกษา โดยไม่จำเป็นต้องจินตนาการและมองโลกในแง่ดีว่ามันจะเกิดเช่นนั้นแน่ ๆ เพราะอย่าลืมว่านี่เป็นการใช้เงินประชาชนในจำนวนมหาศาล จึงไม่ควรทำนโยบายที่ตั้งอยู่บนจินตนาการเพียงอย่างเดียว

ผู้กำหนดนโยบายนี้อาจจะไม่อยากเชื่องานวิจัย ที่ระบุว่า นโยบายคล้ายกันเคยไม่ประสบความสำเร็จในประเทศอื่นในห้วงเวลาอื่น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สามารถไม่เชื่อได้ เพราะรายละเอียดนโยบายถึงแม้จะใกล้กันแต่ก็ไม่เหมือนกัน 100% วงเงินเมื่อเทียบกับกำลังซื้อโดยเฉลี่ยก็ต่างกัน บริบทประเทศและห้วงเวลาเศรษฐกิจก็ไม่เหมือนกัน 100% อย่างที่บอกไม่เคยมีนโยบายไหนในโลกที่เหมือนกันทุกประการและใช้ในประเทศที่เหมือนกันทุกประการ

แต่ก็ไม่ควรเป็นเหตุอ้างให้ด้อยค่างานวิจัยที่ทำมาอย่างดีและได้ผลที่ไม่ถูกใจนี้ หรือด้อยค่าคนที่เอามาแจ้งให้ทราบ ผู้กำหนดนโยบายที่มีความรับผิดชอบและนักวิชาการที่แท้จริงจะไม่ด้อยค่างานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำและจัดทำขึ้นโดยนักวิชาการชั้นนำ แต่จะศึกษาวิธีการวิจัยและเอามาต่อยอดศึกษาต่อในบริบทที่ตั้งใจทำนโยบายในประเทศ เพราะเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่ามนุษย์แม้จะต่างชาติต่างภาษา ก็มักมีการตอบสนองด้านพฤติกรรมต่อนโยบายคล้ายกันในลักษณะใกล้เคียงกัน พร้อมกับที่มีเหตุผลสนับสนุนเชิงวิชาการอื่น ๆ มากมายประกอบด้วย เช่น ข้อค้นพบที่ว่ารายได้ที่เข้ามาเพียงครั้งเดียวจะไม่ทำให้คนปรับพฤติกรรมการบริโภคมากนักเพราะไม่มองว่ารายได้เพิ่มขึ้นเป็นการถาวร

ผลการวิจัยนี้ได้รับรางวัลโนเบลตั้งแต่หลายสิบปีที่แล้วและเป็นจริงในนโยบายลักษณะเดียวกันมาตลอดจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปถึงปัจจุบัน หรืองานวิจัยเรื่องการตัดสินใจลงทุนซึ่งมีอยู่มากมายเหลือคณานับในโลกวิชาการ และในไทยด้วย สามารถไปศึกษาได้และจะพบว่า การตัดสินใจลงทุนเป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำกันง่ายๆ ผู้ที่คิดจะทิ้งอาชีพเดิมและมาลงทุนมีเรื่องที่ต้องคิดเยอะ หากยังไม่ได้ลงทุนมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็เพราะข้อจำกัดต่างๆมากมายที่มีมากกว่าเพียงการขาดเงินทุน หรือการขาดกำลังซื้อระยะสั้นจากคนที่เขาคิดว่าจะเป็นลูกค้าเท่านั้น

"การดำเนินนโยบายอย่างมีความรับผิดชอบจึงควรคำนึงถึงการประเมินความเป็นไปได้ทั้ง 3 ระดับข้างต้นก่อนลงมือทำจริง และถ้ายังอยากเดินหน้าต่อก็สามารถทำได้ แต่ควรทำในลักษณะที่เป็น sandbox คือ ทดลองทำในพื้นที่ขนาดเล็กเช่นอำเภอเดียว หรือจังหวัดเดียว แล้วทำการประเมินผลอย่างมีความเป็นกลางทางวิชาการ โดยนักวิชาการที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด หากผลการดำเนินการทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่นั้นยกระดับขึ้นแม้เพียง 1% แต่ถ้าเพิ่มต่อเนื่องยาวนานเกิน 3 ปี ผมก็คิดว่าเป็นนโยบายที่ควรจะลงทุนและขยายวงไปทั่วประเทศ รวมทั้งป่าวประกาศให้ทั้งโลกรับรู้ว่าเราค้นพบความมหัศจรรย์ในการดำเนินนโยบายแล้ว"