รัฐบาล เตรียมหางานในท้องถิ่นช่วย “แรงงานไทย” กลับจากอิสราเอล

11 ต.ค. 2566 | 02:50 น.

รัฐบาล สั่ง มหาดไทย-แรงงาน เตรียมหางานช่วยเหลือแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล ตกงงาน ไม่มีงานทำ ส่งกรมการพัฒนาชุมชน สำรวจและติดตามดูแลครอบครัวของแรงงาน พร้อมหางานให้ทำในท้องถิ่น

นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) เข้าไปสำรวจและติดตามดูแลครอบครัวของผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สงครามในพื้นที่ตะวันออกกลาง 

โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับให้ติดตามสถานการณ์และดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนเบื้องต้น โดยให้ประสานกับกระทรวงแรงงานในการทำงานร่วมกัน และกรณีหากแรงงานกลับบ้านและไร้งานทำ จะได้เข้าไปดูแล ซึ่ง พช.จะมีแนวทางช่วยเหลือต่อไป

 

ภาพประกอบข่าว รัฐบาล เตรียมหางานช่วยเหลือแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล

ทั้งนี้เบื้องต้นจะได้เข้าไปดูว่า ครอบครัวเหล่านั้นมีความต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลืออย่างไร ร่วมถึงแนวทางการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเพื่อชดเชยรายได้ที่อาจหายไปในระหว่างนี้เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์จะกินระยะเวลานานแค่ไหน

โดยบางครัวเรือนอาจไม่ต้องการความช่วย แต่บางครอบครัวอาจต้องการให้ช่วยเหลือเร่งด่วน เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน โดยเฉพาะกรณีครัวเรือนผู้เสียชีวิตเมื่อทราบข้อมูลและชื่ออย่างเป็นทางการแล้ว จะมอบหมายให้ พช.ประสานงาน เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป

“รัฐบาลจะพยายามพัฒนาและสร้างงานในพื้นที่ชุมชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจากบางรายอาจไม่มีทุนในการกลับไปทำงานอีก ดังนั้นการสร้างอาชีพในท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งจำเป็น”

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุถึงความคืบหน้าในการช่วยเหลือแรงงานไทยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ว่า ในวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้ง 15 คน จะเดินทางออกจากอิสราเอล โดยแบ่งเป็นสองเที่ยวบิน ได้แก่เที่ยวบินแรกในเวลา 10.35 น. จำนวน 10 คน และเที่ยวบินที่สองในเวลา 12.35 น. อีก 5 คน ทั้งหมดจะเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย ในวันที่ 12 ตุลาคม 2566  

ส่วนจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย ขณะนี้มีจำนวน 2,990 คน ซึ่งคงต้องรอทางรัฐบาลอิสราเอลตอบกลับว่า จะพร้อมรับเครื่องบินของทหารอากาศประเทศไทย เพื่อเดินทางเข้าไปรับแรงงานไทยได้เมื่อใด

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการไว้แล้วว่าหากพร้อม ก็ให้เตรียมเครื่องบิน ประกอบด้วย C130 จำนวน 6 ลำ และแอร์บัส A340 อีก 1 ลำ ในการไปรับ แต่หากมีภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ จะต้องมีการหารือกับนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ หากจะเช่าเครื่องบินพาณิชย์เหมาลำจากอิสราเอล หรือเครื่องบินพาณิชย์สายอื่นๆ เพื่อความรวดเร็วในการพาแรงงานไทยกลับสู่ประเทศไทย 

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า หากเหตุการณ์บรรเทาลงแล้ว รัฐบาลคงจะต้องสอบถามแรงงานไทยอีกครั้งว่า มีความต้องการกลับสู่ประเทศไทยอยู่หรือไม่ หากยืนยันว่าอยากกลับประเทศไทยตามเดิม กระทรวงแรงงานจะประสานเรื่องนี้ต่อไป