‘มนพร’ผ่าตัด5รัฐวิสาหกิจ พลิกโฉมที่ดิน3แปลงสร้างรายได้

05 ต.ค. 2566 | 05:33 น.

 หญิงแกร่ง “มนพร เจริญศรี” รมช.คมนาคม ผ่าตัด 5 รัฐวิสาหกิจ แดนสนธยา ลุยโมเดลราชรถยิ้ม ค่ารักษาพยาบาล ลดหนี้ สร้างรายได้ พลิกที่ดินทำเลทอง “ท่าเรือ-ขสมก.” 3 แปลง ดึงเอกชนพัฒนา ไฮไลท์ที่ดินคลองเตยริมเจ้าพระยา พัฒนาเทียบชั้นเอเชียทีค ปรับใหญ่โนโวเทลสุวรรณภูมิคืนชีพ

 

“คมนาคม” กระทรวงเกรดA  ขุมทรัพย์ใหญ่ มีบทบาทสำคัญในการ ติดเครื่องยนต์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐ เมกะโปรเจ็กต์  บก-ราง-น้ำ-อากาศ เชื่อมการเดินทางไร้รอยต่อ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การขนส่งสินค้า กระจายความเจริญในทุกมิติ รวมถึงการพลิกโฉมเมืองทุกทิศทั่วไทยที่มีโครงข่ายไปลงในพื้นที่ จุดประกายแลนด์มาร์คใหม่ ขุมทอง อสังหาริมทรัพย์และหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

ในแต่ละปีจะได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวนมากในลำดับต้นๆ ปีงบประมาณ 2567 เช่นกันที่จะมีเม็ดเงิน กว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะนำไปสู่แผนปฎิบัติการ สู่ระบบเศรษฐกิจฐานราก และคาดหมายว่า การทำงานแบบ “Quick Win” ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว หลังจากผลัดใบไปสู่รัฐบาล “เศรษฐา 1” ที่ต้องการให้พนักงานข้าราชการ รวมถึงประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ลดการทุจริตคอร์รัปชั่นการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง เพื่อให้มีคนคุณภาพที่แท้จริงเข้าทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

 

โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ ที่อยู่ในแดนสนธยา มีปัญหาหมักหมม ต้องเร่งแก้ปัญหาลดหนี้ สร้างได้ราย พลิกเป็นกำไร เลี้ยงองค์กรนับเป็นความท้าทายที่ นาง มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม “รมช.หญิง ป้ายแดง” แดนอีสาน จังหวัดนครพนม 1 ใน 5 หญิงเหล็กใน “รัฐบาลเศรษฐา 1” เปิดเผยกับ “เครือเนชั่น” ว่า  ได้รับผิดชอบกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมเจ้าท่า (จท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) และบริษัทโรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัดที่ต้องนับหนึ่งใหม่ จากการแก้ปัญหา และให้เห็นเป็นรูปธรรม ภายใน 6 เดือน นับจากนี้

  "ราชรถยิ้ม" เพิ่มขวัญกำลังใจรสก.

 ที่ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ต้องทำ เข้าไปแก้ปมที่ผูกอยู่ให้คลายออก เบื้องต้นต้องเข้าไปสร้างโอกาสชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพนักงาน เกิดขวัญกำลังใจในการทำงาน โดยโครงการ ที่เป็นนโยบาย เร่งด่วน คือ โครงการ “ราชรถยิ้ม” นโยบายที่ตั้งขึ้นและได้รับการตอบรับที่ดีกับพนักงาน โดยเริ่มนำร่องให้กับ พนักงานขสมก. ก่อนขยายไปยังหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นของกระทรวงคมนาคม ได้แก่โครงการจัดให้มี ระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลโดยไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน (โครงการเบิกจ่ายตรง) งบประมาณ 7 แสน-1 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเริ่มในปีงบประมาณปี 2567

ล่าสุดแล้วเสร็จเริ่มใช้งานได้แต่ทั้งนี้เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับ ชาวขสมก. จึงกำหนดให้ใช้ได้นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป จากจำนวนพนักงานของขสมก. ประมาณ 14,000 คน ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับทราบจากพนักงานขสมก. ส่วนใหญ่เป็นพนักงานขับรถเมล์ มีความเดือดร้อนเรื่องการสำรองเงินเพื่อรักษาพยาบาล เนื่องจากมีรายได้น้อย เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย ทำให้การทำงานขาดประสิทธิภาพและอาจส่งผลกระทบมายังประชาชนผู้ใช้บริการ

อีกปัญหาสำคัญของขสมก. ที่ต้องสะสางเร่งด่วน คือ การปรับโครงสร้างหนี้ ที่มีสะสม ถึงปัจจุบัน 140,777 ล้านบาท หนึ่งในรัฐวิสาหกิจของกระทรวงคมนาคม ที่มีภาระหนี้สูงและมีความไม่คล่องตัวในการทำงาน กลายเป็นปัญหาหมักหมม

เมื่อตรวจสอบให้ลึกลงถึงข้อมูลพื้นฐาน ด้านการเงินของขสมก. รายได้ เฉลี่ยต่อปีประมาณ 7,800 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย และต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยต่อปี ประมาณ 12,500 ล้านบาท ขณะขาดทุนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 4,700 ล้านบาท จนมียอดหนี้สะสม 140,777 ล้านบาทดังกล่าว มีบุคคลกรมีจำนวน 14,000 คน ปัจจุบันมีจำนวนรถโดยสาร (รถเมล์)ประมาณ 2,885 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถร้อน 1,520 คัน รถปรับอากาศ หรือรถแอร์ 1,365 คัน

ลุยจัดหารถอีวีขสมก.ลดภาระการเงิน

ที่น่าจับตาจากนี้ไป คือ ภาระค่าซ่อมรถเมล์ต่อปีสูงถึง 1,900 ล้านบาท หากปรับลดตรงจุดนี้ได้ เชื่อว่า จะช่วยให้ขสมก.ฟื้นตัวในระดับหนึ่ง สำหรับทางออกที่กระทรวงคมนาคมไม่ต้องแบกรับภาระงบก้อนนี้ ในทุกๆ ปี คือ เร่งจัดทำโครงการ จัดหารถโดยสารพลังงาน (รถอีวี) จำนวน 2,013 คัน โดยวิธีการเช่า ภายในระยะเวลา 3-5 ปี จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนทางการเงินของขสมก. ลงได้ 60% ที่จะมีการเหมาเรื่องค่าซ่อม ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงค่าประกันภายค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเก็บค่าโดยสารเป็นต้น และระยะยาวจะช่วยลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องยุทธศาสตร์ของประเทศในด้านการใช้พลังงานสะอาดในระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น

 นางมนพร ระบุว่าจะเจรจากับสหภาพแรงงานขสมก.เพื่อทำความเข้าใจ  และพร้อมที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปพร้อมกัน

 ขณะเดียวกัน จะหาทางสร้างรายได้ควบคู่กันไป เนื่องจาก ขสมก.มีแปลงที่ดินที่มีศักยภาพจำนวน 2 แปลงที่พร้อมนำออกประมูล ได้แก่ แปลงอู่จอดรถเมล์บางเขน บริเวณวัดพระศรีมหาธาตุ เนื้อที่ 11 ไร่ อยู่ติดกับรถไฟฟ้า และ ที่ดินอู่มีนบุรี 10 ไร่ ย่านชุมชนที่มีการเดินทางผ่านหนาแน่น จึงถือเป็นอู่จอดรถที่มีศักยภาพ และอยู่ปลายทางรถไฟฟ้าสายสีส้มและสีชมพู คาดว่าจะจูงใจเอกชนร่วมลงทุน

 “การนำที่ดินทั้งสองแปลงให้เอกชนพัฒนาและสร้างรายได้ โดยมอบขสมก.กับไปศึกษาจัดทำ ทีโออาร์ใหม่ เพื่อดึงดูดใจนักลงทุน ภายใน 6 เดือน”

เสริมศักยภาพท่องเที่ยวทางน้ำ

ส่วน การท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่มีที่ดินแปลงศักยภาพ บริเวณท่าเรือคลองเตย ทำเลริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื้อที่ 17 ไร่ อยู่ตรงข้ามกรมศุลกากร ซึ่งมองว่า ส่วนหนึ่งจะต้องนำเป็นที่อยู่อาศัยรองรับ คนในพื้นที่และพนักงาน และ ส่วนหนึ่งนำออกให้เอกชนพัฒนาเชิงพาณิชย์รูปแบบ เดียวกับเอเชียทีค ย่านช็อปปิ้ง แห่งใหม่ริมน้ำ จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวระดับโลกที่ต่างชาติให้ความสนใจ

ทั้งนี้ จะรับเรือท่องเที่ยว เจ้าพระยา เข้ามาในพื้นที่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน ที่มอบกรมเจ้าท่า จัดทำท่าเรือที่สะอาดปลอดภัย รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวทางน้ำ ติดจีพีเอส ซึ่งกระทรวงคมนาคม ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีนโยบายดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวทางน้ำมากขึ้น ตามนโยบาย วีซ่าฟรี สำหรับชาวจีนและคาซัคสถาน

สางปมโนโวเทลสุวรรณภูมิแอร์พอร์ต

 นางมนพร กล่าวต่อว่า อีกทำเลทองโรงแรมโนโวเทลสุวรรณภูมิแอร์พอร์ต ที่มีศักยภาพสูงตั้งอยู่ บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ปัจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT  จำนวน กว่า 600 ห้อง หลังสถานการณ์โควิด ได้ปรับปรุง วงเงิน 200 ล้าน บาท แต่มีปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน

 อย่างไรก็ตาม ได้หาทางออกโดยการกำหนดทีโออาร์และประมูลใหม่ โดยแยกสัญญาออกเป็นชิ้นๆ เช่น ประมูลพรม 5 ล้านบาท ประมูล ฝ้าเพดาน 2 ล้านบาท เป็นต้น โดยไม่ต้องกระจุกตัวเป็นเงินก้อนใหญ่ ที่ต้องรอเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการ AOT ที่เกิดปัญหา องค์ประชุมไม่ครบและต้องเร่งสรรหา โดยเร็ว

 “ต้องการให้ โรงแรมดังกล่าวมีชีวิต สร้างจุดขายแหล่งช็อปปิ้งดึงดูดใจ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจีน พนักงานสายการบินต่างๆเข้าพัก เดือนมิถุนายน ปีหน้า หากหมดสัญญากับเชนโรงแรมดัง จะไม่ต่อสัญญาหรือประมูลใหม่ แต่จะนำมาบริหารจัดการเอง”

 นอกจากนี้ ยังต้องปรับศักยภาพสถาบันการบินพลเรือน ให้เพิ่มประสิทธิภาพผลิต นักบินหรือบุคคลากรทางการบินมากขึ้น เป็นต้น

 นางมนพร ย้ำในตอนท้ายว่า ทุกโครงการใน 5 องค์กรที่กำกับดูแล จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ไม่เกิน 6 เดือน นับจากนี้

ผ่าตัดใหญ่5รัฐวิสาหกิจ กระทรวงคมนาคม