ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ 3 ประเด็น โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้เสนอ เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและส่งเสริมสิทธิประโยชน์ของแรงงาน
รวมถึงเรื่องการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราและค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาเพื่อทำงานในราชอาณาจักร ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษต่อที่ประชุม ครม.
ทั้งนี้ มุ่งหวังให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 คลี่คลายเป็นไปอย่างราบรื่น นายจ้าง สถานประกอบการมีแรงงานต่างชาติเพียงพอกับความต้องการในการขับเคลื่อนกิจการ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากค่าธรรมเนียมต่าง ๆ และช่วยให้นายจ้างสามารถจ้างแรงงานคนเดิมที่มีประสบการณ์ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งคำนึงถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานข้ามชาติให้อยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสม โดยสาระสำคัญที่ ครม.เห็นชอบ มี 3 ประเด็น ดังนี้
1.ผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ ตามมติครม.เมื่อวันที่ 5 ก.ค.66 ที่นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการฯ ต่อกรมการจัดหางานแล้ว ภายใน 31 ก.ค.66 ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 1,000,000 คน โดยต้องดำเนินการตามแนวทางที่มติครม.กำหนด เพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานได้ถึงวันที่ 13 ก.พ.68
2.ผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่เข้ามาทำงาน ตาม MOU ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี (ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 63 - 31 ธ.ค. 66) อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานเป็นการชั่วคราว ถึงวันที่ 30 เม.ย.67 โดยระหว่างผ่อนผันให้นายจ้างขออนุญาตนำแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผัน เข้ามาทำงานตาม MOU และให้แรงงานเดินทางกลับประเทศต้นทางและเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยในโอกาสแรกโดยไม่ต้องมีระยะเวลาพัก 30 วัน
3.ลดค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ครั้งละ 2,000 บาท เหลือ 500 บาท และค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป จากครั้งละ 1,900 บาท เหลือครั้งละ 500 บาท ทั้งสำหรับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานตาม MOU และแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ครม.ให้ความเห็นชอบในหลักการร่างประกาศของกระทรวงแรงงาน จำนวน 2 ฉบับ รวมถึงอนุมัติในหลักการร่างประกาศของกระทรวงมหาดไทย จำนวน 2 ฉบับ และร่างกฎกระทรวงมหาดไทย จำนวน 1 ฉบับ รวม 5 ฉบับ
ทั้งนี้ นายจ้างที่มีแรงงานข้ามชาติตามมติครม. เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 66 และแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงาน ตาม MOU ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ที่ได้รับการผ่อนผัน สามารถดำเนินการได้ทันทีที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานมีผลบังคับใช้ ส่วนเรื่องการปรับลดค่าธรรมเนียมวีซ่า จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ต่อไป