“เศรษฐา” สัญญา ค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนป.ตรี 2.5 หมื่น มีแน่นอน

02 ต.ค. 2566 | 08:05 น.

“เศรษฐา ทวีสิน” มั่นใจว่า ทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ให้สัญญา ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนผู้เรียนจบปริญญาตรี 2.5 หมื่นบาท มีแน่นอนภายในปี 2570

วันนี้ (2 ตุลาคม 2566) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยตอนหนึ่งในช่วงระหว่างการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า รัฐบาลมั่นใจว่า ทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะทำให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำไปอยู่ที่ 400 บาทต่อวันได้โดยเร็วที่สุดเป็นสเต็ปแรก

“การดำเนินงานหลากหลายนโยบายของรัฐบาลนั้น จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และทำให้รัฐบาลสามารถปรับค่าแรงขั้นต่ำตามเศรษฐกิจได้ เป็น 600 บาทต่อวัน เงินเดือนผู้เรียนจบปริญญาตรี 25,000 บาท ได้ภายในปี 2570” นายเศรษฐา ระบุ

นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลจะดูแลคนทำงานให้มีรายได้ที่เป็นธรรม มีปริมาณและรายได้ที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที รวมถึงดูแล สนับสนุน สิทธิมนุษชน และความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ทั้งชนกลุ่มน้อย ผู้พิการ คนท้อง คนชรา เด็ก กลุ่มความหลากหลายทางเพศ 

พร้อมทั้งเร่งรัดการทำให้คนทำงานมีสิทธิพื้นฐานครบถ้วนโดยเร็ว และทำแผนดูแลในบางกลุ่มเปราะบางเพิ่มเติมด้วย และสุดท้าย รัฐบาลและราชการ จะต้องทำงานเพื่อบริการประชาชนให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ที่ผ่านมาในการพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายรัฐบาลนั้น นายกฯ ได้เคยประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้ครั้งหนึ่งในช่วงของการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า จะปรับขึ้นในช่วงปีแรกก่อน โดยมีเป้าหมายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้ได้ 400 บาทต่อวัน ซึ่งรัฐบาลจะมีการหารือคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งจะมีการเจรจาทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายแรงงาน ฝ่ายผู้ว่าจ้าง และฝ่ายรัฐบาล เพื่อปรับค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ในระดับเหมาะสม

ขณะเดียวกันในส่วนของกระทรวงแรงงานที่ขับเคลื่อนนโยบายด้านค่าจ้างขั้นต่ำนั้น นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 จะหาทางสรุปแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ ก่อนจะประกาศเป็นของขวัญปีใหม่ปี 2567 ให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานต่อไป

โดยที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน ได้หารือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน เพื่อรับทราบความคิดเห็นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ซึ่งได้สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น โดยจากนี้ไปกระทรวงแรงงานจะไปหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุป เรื่องนี้ก่อนนำมารายงานให้นายกฯ รับทราบอีกครั้ง