หวังรัฐบาลใหม่ เร่งส่งออก ชะลอขึ้นค่าแรง สานต่อ BCG

11 มิ.ย. 2566 | 01:49 น.

ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นโยบายของพรรคก้าวไกลแกนนำจัดตั้งรัฐบาลยังต้องลุ้นว่าจะได้ถูกนำมาใช้หรือไม่

ทั้งนี้หากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคฯ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่สะดุดปมถือหุ้นสื่อ และการโหวตเลือกนายกฯของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในภาพรวมนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจปากท้องของพรรคฯคนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน แต่นโยบายปรับขึ้นค่าแรงหรือค่าจ้างขั้นตํ่าเป็น 450 บาทต่อวัน มีเสียงท้วงติงจากภาคธุรกิจเอกชนที่มีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่จะเพิ่มขึ้น

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ต่อประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงหรือค่าจ้างขั้นตํ่าเป็น 450 บาทต่อวันว่า ไม่ควรขึ้นแบบกระชากแรง เพราะด้วยเงื่อนไขเวลานี้ภาวะเงินเฟ้อของไทยก็ปรับลดลงมาก เศรษฐกิจและการส่งออกก็ชะลอตัว ผู้ประกอบการยังมีต้นทุนสูงจากค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้า

ดังนั้นเสนอให้มีการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงในระยะถัดไปเมื่อเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นแล้ว แต่หากจะมีการปรับขึ้นหลังได้รัฐบาลชุดใหม่ คงได้มีโอกาสหารือกันในรายละเอียดระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป

 “การที่คนไทยหรือต่างชาติจะลงทุนในไทยไม่ได้พิจารณาจากเรื่องค่าแรงอย่างเดียว แต่จะพิจารณาตัดสินใจจากหลายปัจจัยประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะฝีมือแรงงาน ค่าไฟฟ้า ผลิตภาพหรือผลผลิต(Productivity) ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงผลิตสินค้าแล้วจะส่งออกหรือขายไปประเทศใดได้บ้างที่ไทยมีแต้มต่อด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากมีความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) และข้อได้เปรียบคู่แข่งขันอื่น  ซึ่งรัฐบาลใหม่จะต้องมีการเปิดเจรจาเพื่อจัดทำ FTA ใหม่  เพื่อผลักดันการส่งออก และช่วยดึงดูดการลงทุน”

  • ต่างชาติจับตาการเมืองไทย

เมื่อถามว่า ต่างชาติสอบถามเรื่องการตั้งรัฐบาลของไทยหรือไม่ อย่างไร นายวิศิษฐ์กล่าวว่า ก็มีการคุยกันอยู่ตลอด ซึ่งต่างชาติก็มีหลายส่วน ส่วนที่มาลงทุนแล้ว และผลิตเพื่อส่งออกก็ไม่ได้ห่วงอะไรมาก แต่ในส่วนที่จะมาลงทุนใหม่ แน่นอนเขาก็ต้องคอยสอบถามอยู่เรื่อย ๆ ถึงสถานการณ์ บางรายขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้ว หรือเตรียมพร้อมลงทุนจริงแล้ว ก็อาจจะรอดูจังหวะเวลา แต่หากรายใดมีความพร้อมแม้จะเป็นช่วงจังหวะแบบนี้ก็จะมาลงทุนอยู่แล้ว ส่วนในรายที่เตรียมยื่นขออนุมัติ หรือว่ากำลังตัดสินใจว่าจะไปประเทศไหนดี ในส่วนนี้ต้องสร้างความมั่นใจให้เขาว่ามาลงทุนในไทยแล้วมีความสามารถในการแข่งขันที่ดี

หวังรัฐบาลใหม่ เร่งส่งออก ชะลอขึ้นค่าแรง สานต่อ BCG

  • คาดหวังเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับความคาดหวังต่อว่าที่รัฐบาลใหม่ เมื่อเข้ามาทำหน้าที่แล้วจะต้องมีความกระชับฉับไวในการทำหน้าที่ จากเวลานี้มีหลายเรื่องที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาสานต่อและแก้ไขปัญหา ตัวอย่างเช่น ภาคการท่องเที่ยว ที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่ยังต้องไปขยายเพิ่มเติมในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเมืองรองเพื่อให้จังหวัดอื่น ๆ นอกเหนือจากเมืองหลักได้ประโยชน์ด้วย รวมถึงเรื่องของวิธีการเดินทางของต่างชาติที่เข้ามา สายการบินอาจจะยังเปิดไม่ครบเรื่องรูท (Route) การเดินทางต่าง ๆ การเชื่อมต่อการเดินทางไปยังประเทศอื่นที่ต้องอำนวยความสะดวก

ส่วนภาคการส่งออก ภาพรวม 4 เดือนแรกปี 2566 ยังชะลอตัว ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในหลาย ๆ ประเทศที่เป็นตลาดสำคัญ ๆ ของไทย ที่รัฐบาลใหม่ต้องดูแลและประคับประคองตัวเลขให้ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการกระตุ้นการท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุนในประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจยังขยายตัว

  • สานต่อ BCG เพิ่มขีดแข่งขัน

เมื่อถามถึงนโยบายของรัฐบาลเดิมที่ดีอยู่แล้วที่ควรสานต่อ และนโยบายใหม่ที่อยากเห็น นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า มีหลายเรื่องที่รัฐบาลใหม่ควรสานต่อ เช่น นโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ขณะที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่อง SDGs17 (เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการขององค์การสหประชาชาติ) ซึ่ง BCG ของไทยก็ไปตอบโจทย์ SDGs17 เพียงแต่ทั่วโลกเรียกไม่เหมือนกัน แต่มีเป้าหมายปลายทางที่เหมือนกัน

 “บางประเทศจะเรียกว่า Circular Economy อย่างเดียว บางประเทศก็เน้น Green แต่ของเรามีทั้ง Bio, Circular และ Green ซึ่งสุดท้ายแล้วการที่จะได้ประโยชน์จากตรงนี้ก็ต้องไปดูคู่ค้าของเราว่าเขาใช้ตัวไหน และมาตรฐานหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เพราะแต่ละประเทศมักจะนำจุดแข็ง หรือจุดเด่นของตัวเองเป็นตัวตั้ง ซึ่งไทยต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับประเทศที่เราจะค้าขายด้วย ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการรายย่อยก็จะมีต้นทุนที่สูงเกินไป และแข่งขันไม่ได้ แต่ถ้าทำน้อยเกินไปก็จะขายสินค้าไม่ได้เช่นกัน”