นักวิชาการเตือนก้าวไกล รีดภาษีคนรวย ผลกระทบย้อนกลับทุบเศรษฐกิจ

29 พ.ค. 2566 | 10:54 น.

นักวิชาการเตือน ก้าวไกลหาช่องรีดภาษีคนรวย เสี่ยงเจอผลกระทบย้อนกลับทุบเศรษฐกิจประเทศ ต้องจัดลำดับความสำคัญ มีผลวิเคราะห์ชัดว่าทำแล้วส่งผลดี หรือกระทบอุตสาหกรรมไหน ต้องมีผลการศึกษาเพียงพอ

กรณี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ออกมาระบุถึงนโยบายของพรรคก้าวไกล หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ จะผลักดันการจัดเก็บภาษี 3 ประเภท คือ

1.ภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (Capital Gain Tax)

2.การเก็บภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) สำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินเกิน 300 ล้านบาท ส่วนที่เกินตั้งแต่บาทแรกจะเก็บ 0.5%

3.ทยอยขึ้นภาษีนิติบุคคลทุนขนาดใหญ่จาก 20% เป็น 23% และปรับลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดานั้น 

ต้องวิเคราะห์ให้ดีก่อนลงมือทำ

ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีประเภทต่าง ๆ ต้องวิเคราะห์ ให้ดีก่อนทำ เพราะการเก็บภาษีทั้งสามประเภทนั้นเป็นเรื่องใหญ่ และจะทำในครั้งเดียวพร้อม ๆ กันไม่ได้ เพราะจะส่งผลกระทบตามมาหลายเรื่องต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการไปสร้างต้นทุนให้กับภาคธุรกิจ และสุดท้ายจะส่งผลกระทบตามมาคือเรื่องของการจ้างงาน และการลงทุนภาคเอกชนด้วย

“นโยบายพรรคก้าวไกล จะต้องบอกให้ชัดว่า เมื่อเก็บภาษีมาแล้ว จะนำมาเงินทีได้มาจากภาษีแต่ละส่วนนั้นมาทำอะไร ต้องชี้แจงรายละเอียดออกมาว่าเมื่อเก็บมาแล้วต้องสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น ไม่ใช่เก็บเอามาแล้วไปถลุงประชานิมแบบไม่มีคุณภาพ จนทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ นา ๆ ขึ้นมาอีก อย่างนี้คิดว่าไม่ถูกต้อง” ศ.ดร.อรรถกฤต ระบุ

 

ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย

ขอให้คิด-จัดลำดับความสำคัญ

สิ่งสำคัญตอนนี้คือ หากพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลได้และเข้ามาบริหารประเทศ และผลักดันเรื่องการเก็บภาษีออกมา อย่างน้อยขอให้คิดและจัดลำดับความสำคัญของการเก็บภาษีแต่ละชนิดออกมาให้ชัดเจนกว่านี้ โดยต้องมีผลการศึกษาที่ชัดเจน มีการทดสอบว่าเมื่อทำแล้วจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร มีข้อดี หรือข้อเสียอย่างไหนมากกว่ากัน แล้วอุตสาหกรรมไหนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ขณะที่แรงงานในอุตสาหกรรมนั้นจะต้องได้รับผลกระทบอย่างไรด้วย

อย่างไรก็ดีการคิดเรื่องของการจัดเก็บภาษี ส่วนตัวมองว่า การผลักดันไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นเรื่องไม่ง่าย หากไม่มีการคิดและวิเคราะห์ออกมาที่ชัดเจนถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยที่ผ่านมายังไม่รู้ว่า พรรคก้าวไกลวางแผนเอาไว้อย่างไร รอบคอบแล้วหรือไม่ หากประกาศใช้ออกมาแล้วเกิดการผิดพลาดจะมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องมีแผนสำรองเอาไว้เสมอ แต่ก็ไม่รู้ว่าพรรคก้าวไกลมีผลการศึกษาเพียงพอหรือไม่ กับการผลักดันเรื่องใหญ่และส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจแบบนี้ 

“การคิดนโยบายของหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จ จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์เป็นการเฉพาะมาวิเคราะห์รายละเอียดว่าการเพิ่มภาษีทุก 1% สิ่งที่ควรได้กับสิ่งที่เสียไปทั้งหมดเป็นอย่างไร ดูเวลา ดูสถานการณ์โลก ดูสถานการณ์เศรษฐกิจไทยประเทศพร้อมไหม แล้วเงินที่เก็บมาได้จะทำอะไร ไม่ใช่เก็บมาเยอะแล้ว แต่กระทบซับพลายเชนทั้งหมด ทั้งการลงทุน จ้างงาน การส่งออก และสุดท้ายจะส่งผลกระทบกลับมาโดยตรงกับตัวเลขจีดีพีของประเทศ ดังนั้นจึงต้องให้ดีว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่” ศ.ดร.อรรถกฤต ระบุ

 

ภาพประกอบข่าวการจัดเก็บภาษี ตามนโยบายพรรคก้าวไกล

เตือนทำคู่ขึ้นค่าแรงเสี่ยงประเทศพัง

ศ.ดร.อรรถกฤต กล่าวว่า สิ่งที่นักวิชาการเป็นห่วงและอยากเตือนถึงการทำนโยบายเก็บภาษีเพื่อหวังว่าจะลดความเหลื่อมล้ำครั้งนี้ พรรคก้าวไกลต้องคิดให้ดี เพราะหากทำนโยบายนี้ควบคู่กับนโยบายการขึ้นค่าแรงทันที 450 บาทต่อวัน จะส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจ้างงาน และการลงทุนภาคเอกชนจะค่อย ๆ หายไป เพราะทุกนโยบายที่ออกมาเป็นการเพิ่มภาระให้กับเอกชนที่เสียภาษีปกติอยู่แล้ว และหากยังผลักดันออกมาแล้วเกิดผลเสียก็ยิ่งยากที่จะหาทางแก้ไขโดยเร็วอีกด้วย   

“ปัญหาของพรรคก้าวไกลคือเอานโยบายของประเทศพัฒนาแล้วมาประยุกต์มากเกินไป ทั้ง ๆ ที่ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจแต่ละประเทศต่างกัน จึงต้องคิดให้ดี และปรับให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจไทย โดยการทำประชานิยมแบบไม่มีคุณภาพขอให้เลิกทำทันที และหันมาดูอะไรที่มีคุณภาพ รับฟังตัวเลข มีบิ๊กดาต้าเพียงพอในการวิเคราะห์ จะได้เห็นภาพรวมก่อนไม่ใช่เป็นปุ๊บแล้วอยากจะทำ ต้องศึกษาให้ดี และสอบถามหน่วยงานต่าง ๆ เสียก่อน” ศ.ดร.อรรถกฤต ทิ้งท้าย

ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวก่อนหน้านี้ถึงนโยบายเกี่ยวกับการเก็บภาษีจากคนที่มีรายได้สูงว่า จะทำขาเดียวคงไม่ได้ เพราะคนที่มีรายได้สูงยังมีช่องทางการลดหย่อนภาษีอื่น ๆ อีกหลายช่องทาง และหากจะเก็บภาษีจากคนรายได้สูงจริง โดยไปปรับลดการลดหย่อนให้น้อยลง ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือการดึงคนไทยส่วนใหญ่ให้เข้าสู่ระบบภาษี เพื่อให้ได้รับสวัสดิการดี ๆ เหมือนกับในต่างประเทศได้