3 เครื่องยนต์ ศก.สะดุด เรื่องใหญ่ไม่แพ้จัดตั้งรัฐบาล

27 พ.ค. 2566 | 09:17 น.

ก้าวหน้าไปอีกคืบกับเป้าหมายการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล หลัง 8 พรรคร่วมได้ลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล โดยประกาศ 23 ภารกิจที่จะร่วมกันผลักดัน และมีแนวทางปฏิบัติ 5 ข้อ ให้ทุกพรรคต้องตระหนักในการทำงานร่วมกัน

เส้นทางนับจากนี้ว่าที่รัฐบาลใหม่ยังต้องฝ่าอีกหลายด่าน ด่านสำคัญคือ ด่านสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. จะยกมือโหวต ให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 หรือไม่

อย่างไรก็ดีที่หลายฝ่ายกังวลเวลานี้คือ จากสุญญากาศการเมืองที่เกิดขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลรักษาการหยุดชะงัก นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างหรือค่าแรงขั้นตํ่าที่ประกาศ 450 บาท และ 600 บาทต่อวันของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ที่จะส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นทั้งก่อนและหลังการปรับขึ้นจริง จะทุบซํ้าค่าครองชีพของ ประชาชนที่เวลานี้ต้องแบกรับภาระชนิดรายได้ไม่พอรายจ่ายกันแทบถ้วนหน้า ทั้งค่าไฟ ค่านํ้า ค่าแก๊สหุงต้ม ค่านํ้ามัน หนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบ ฯลฯ หากตั้งรัฐบาลล่าช้า ไร้แรงขับเคลื่อน และไม่มีมาตรการมาช่วย บรรเทาเยียวยาอย่างต่อเนื่องจะอยู่กันอย่างไร ค่าไฟฟ้างวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค. 66)ที่ประกาศจะปรับลดลงที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร

3 เครื่องยนต์ ศก.สะดุด เรื่องใหญ่ไม่แพ้จัดตั้งรัฐบาล

หันมาดูเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยกันบ้าง ไล่ตั้งแต่การใช้จ่ายของภาครัฐ ข้อมูลจากกรมบัญชีกลางระบุ ผลการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 (งบฯ 3.18 ล้านล้านบาท) ข้อมูล ณ วันที่ 12 พ.ค. มียอดการเบิกจ่ายแล้ว 1.96 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.62% ของวงเงินงบประมาณรวม แบ่งเป็น การเบิกจ่ายงบประมาณประจำจำนวน 1.68 ล้านล้านบาท และงบลงทุนจำนวน 2.77 แสนล้านบาท ซึ่งเวลาที่เหลืออีก 4 เดือนเศษของปีงบประมาณ หากการเบิกจ่ายงบมีความล่าช้าจะทำให้โครงการลงทุน ใหม่ ๆ ของรัฐบาลต้องชะลอออกไป

ภาคส่งออก ตัวเลขส่งออกไทยยังติดลบต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน (ต.ค. 2565-มี.ค. 2566) ภาพรวมไตรมาสแรก หรือ 3 เดือนแรกปีนี้ส่งออกมูลค่า 70,280.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2.37 ล้านล้านบาท) ขยายตัวลดลงหรือติดลบ 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นผลกระทบ จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และภาคส่งออกไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ส่วนหนึ่งจากไม่มีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ใหม่ ๆ มาช่วยสร้างแต้มต่อ ต้นทุนการผลิตสูงโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งขันส่งออกทั้งเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย

ทั้งนี้จากเป้าหมายการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 1-2% ขณะที่ภาคเอกชนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร.คาดการณ์ส่งออกไทยจะติดลบ 1.0% หรือดีสุดเสมอตัว 0.0% (ณ พ.ค. 66) ซึ่งสุญญากาศการเมืองทำให้ไม่มีระดับรัฐมนตรีนำทัพเอกชนเดินหน้าเจรจาการค้าอย่างมีพลัง ขณะที่ยังมีอย่างน้อย 4 FTA ใหม่ (FTA กับอิสราเอล ภูฎาน กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก เกาหลีใต้)ที่กรมเจรจาการค้าฯอยู่ระหว่างรอผลการศึกษา หากดำเนินการแล้วเสร็จจะมีการดำเนินการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อและทอดเวลาเนิ่นนานออกไปย่อมไม่เป็นผลดีต่อการส่งออกของประเทศ ที่ในปี 2565 มีสัดส่วนต่อจีดีพีกว่า 55%

ส่วน การลงทุนของภาคเอกชน ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน จากเมื่อมีการลงทุนในประเทศก็จะมีการสร้างเงิน สร้างงาน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน และช่วยเพิ่มยอดส่งออกให้กับประเทศในอนาคต โดยเป้าหมายของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ปี 2566 การขอรับการส่งเสริมจะมีมูลค่าเม็ดเงินลงทุน 5-6 แสนล้านบาท (จากปี 2565 ขอรับส่งเสริม 6.6 แสนล้านบาท)

โดยข้อมูลบีโอไอคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรก ปี 2566 มีทั้งสิ้น 397 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 มูลค่าเงินลงทุน 185,730 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังต้องลุ้นว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติต่อทิศทางการเมืองไทยจะส่งผลให้ในอีก 9 เดือนที่เหลือของปีนี้เป้าหมายการขอรับการส่งเสริมจะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่

ขณะเดียวกันยังต้องจับตาปรากฎการณ์เอลนีโญที่อาจก่อให้เกิดภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พื้นที่ลงทุนหลักของประเทศนํ้าจะมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ของทุกภาคส่วนหรือไม่ รัฐจะป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างไร และจะกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนจริงของภาคเอกชนหรือไม่

จาก 3 เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่เครื่อง ยังสะดุดในเวลานี้ ชี้ให้เห็นแล้วว่า สุญญากาศทางการเมืองที่เกิดขึ้นเวลานี้มีผลกระทบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ยังต้องลุ้นว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งหากมีความยืดเยื้อไม่เป็นไปตามไทม์ไลน์ก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นทุกฝ่ายคาดหวังจะได้รัฐบาลใหม่เพื่อมาแก้ปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเร็ว

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3890 วันที่ 25 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2566