ผ่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ประเทศเสียหายใครรับผิดชอบ

27 พ.ค. 2566 | 00:11 น.

วิเคราะห์ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท พรรคก้าวไกล ฟังมุมมองจากนายจ้างกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจนกลายเป็นวงกว้าง เศรษฐกิจมีความเสี่ยง และคำถามดัง ๆ ประเทศเสียหายใครรับผิดชอบ

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยถึง นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ว่า นโยบายของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นที่กังวลของผู้ประกอบการและอาจมีผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทย นั่นคือ การปรับค่าจ้างหรือค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาท

ก่อนหน้านี้ หัวหน้าพรรคเดินสายพูดคุยกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยระบุว่าจะพิจารณาการปรับค่าจ้างไม่ให้กระชากกระทบต่อเศรษฐกิจ ขณะที่รองหัวหน้าพรรค ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนจะเดินหน้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะท่าภายใน 100 วันแรกที่เข้ามาเป็นรัฐบาล 

ประเด็นนี้เป็นข้อกังวลของนายจ้างทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ รวมทั้งภาคท่องเที่ยว รวมไปถึงเกษตรแปรรูป เกี่ยวข้องกับเรื่องต้นทุนและขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่นเดียวกับค่าครองชีพและเงินเฟ้อที่จะตามมา ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างเหมือนคลื่นสึนามิ ที่อาจกระทบไปทุกภาคส่วน รวมไปถึงผู้ใช้แรงงานในฐานะที่เป็นผู้บริโภครายใหญ่สุดของประเทศ 

 

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยวิเคราะห์ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท พรรคก้าวไกล

ขึ้นค่าแรงหวังเศรษฐกิจฟื้น มีตัวอย่างไหม

เหตุผลของพรรคก้าวไกลในการปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดดและถือเป็นภารกิจหลัก คือต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน โดยระบุว่าเป็นอัตราที่เหมาะสม เพราะค่าจ้างของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ การใช้นโยบายค่าจ้างในระดับที่สูงโดยไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจจริง โดยหวังว่าปรับค่าจ้างให้สูง ก่อนแล้วเศรษฐกิจหรือจีดีพีจะขยายตัวในระดับสูงท่าให้รายได้ของประชาชนสูงตาม 

หากทำได้ง่าย ๆ แบบที กล่าวทำไมประเทศต่าง ๆ จึงไม่ได้นำมาใช้ หรือไทยคิดเป็นประเทศเดียว ประเด็นที่ต้องเข้าใจคือ โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ระดับประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง พึ่งพาการส่งออก ทั้งสินค้าอุตสาหกรรม-เกษตรแปรรูป รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา อ้อย ในรูปของน้ำตาล รวมถึงผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์และประมง 

ภาคส่วนเหล่านี้ใช้แรงงานเข้มข้นจำนวนมาก สินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ไทยรับจ้างผลิต (OEM) หรือไม่มีแบรนด์ เครื่องหมายการค้าทำให้ราคามีความอ่อนไหว เพราะต้องแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย อีกทั้งไทยยังต้องพึ่งพาการลงทุนทั้งใหม่และเก่า เพื่อรองรับแรงงานใหม่ที่แต่ละปีจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5.17 แสนคน 

จึงไม่แปลกที่ภาคเอกชนทั้งอุตสาหกรรมการผลิต การค้าบริการ ก่อสร้าง โรงแรม และสภาองค์กรนายจ้างที่มีข้อกังวลต่อประเด็นค่าจ้างแบบก้าวพรวด 450 บาท จะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านการส่งออก

รวมถึงผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมที่ต้องจ่ายค่าแรงสูงโดยไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจจริง ทำให้สินค้าส่งออกของไทยหากปรับราคา (ส่วนหนึ่ง) จะแข่งขันไม่ได้ และอาจทำให้การจ้างงานในอนาคตลดลง

 

วิเคราะห์ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท พรรคก้าวไกล ฟังมุมมองจากนายจ้าง

ลูกจ้างเอสเอ็มอีต่อคิวตกงาน

ดร.ธนิต ระบุว่า ที่น่าห่วงคือธุรกิจรายย่อยและเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการขนาดเล็ก เฉพาะที่จดทะเบียนกับกระทรวงพานิชย์มีมากกว่า 8.4 แสนราย หากไปไม่ไหว บางส่วนอาจต้องปิดกิจการหรือต้องเทลูกจ้างออกจากงาน ที่ตามมาคือเงินเฟ้อและราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงและจะกระทบกลับไปสู่ประชาชน 

การใช้นโยบายค่าจ้างแบบก้าวกระโดด จึงไม่ใช่ยาแรงที่จะใช้ในการแก้ให้เศรษฐกิจขยายตัว ในทางตรงข้ามอาจทำให้เกิดการแพ้ยาเพราะเศรษฐกิจ ไทยมีความเปราะบางไม่ได้เข้มแข็งเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้วจนอาจทรุดตัวได้ 

ดูตัวอย่างเพื่อนบ้านขึ้นค่าแรงจนล้ม

กรณีศึกษา เช่น อดีตเมื่อสองทศวรรษประเทศฟิลิปปินส์เคยใช้นโยบายประชานิยมค่าจ้างสูง สถานประกอบการอยู่ไม่ได้การลงทุนไม่มา ทำให้ไม่มีแหล่งจ้างงาน ทำให้คนฟิลิปปินส์จำนวนมากต้องออกไปท่างานในต่างประเทศ ตั้งแต่งานแม่บ้าน กรรมกร ลูกเรือสินค้า กลายเป็นประเทศผู้ป่วยแห่งเอเชีย เพิ่งจะฟื้นเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมานี่เอง 

ค่าแรงขั้นต่ำหรือ “Minimum Wage” เป็นค่าจ้างขั้นต่ำอ้างอิงตามกฎหมาย ส่วนใหญ่เป็นค่าจ้างแรกเข้า เป็นแรงงานวัยตอนต้นไม่มีภาระครอบครัวที่ต้องดูแล และเป็นค่าจ้างคุ้มครองกลุ่มคนเปราะบาง เช่น คนสูงวัย หรือผู้พิการ และเป็นค่าจ้างที่ต้องให้กับทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งด้านเพศ ศาสนา รวมถึงแรงงานต่างด้าว 

หากทำงานไประยะหนึ่งมีทักษะประสบการณ์มากขึ้น ค่าจ้างจะปรับสูง โดยเฉพาะปัจจุบันแรงงานทุกระดับขาดแคลน  ตลาดเป็นของลูกจ้าง อีกทั้งสังคมโซเชียลออนไลน์ทำให้แรงงานมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการเลือกนายจ้างที่ให้รายได้และมีสวัสดิการที่ดีกว่า 

ผลกระทบดังที่กล่าวข้างต้นเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูง ค่าแรงจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน 

 

วิเคราะห์ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท พรรคก้าวไกล ฟังมุมมองจากนายจ้าง

 

คนได้ประโยชน์ตัวจริงคือต่างด้าว

การที่ปรับค่าจ้าง 450 บาทหากเปรียบเทียบกับค่าจ้างขั้นต่ำกทม.และปริมณฑล 353 บาท ทำให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นวันละ 97 บาท หรือเดือนละ 2,910 บาท คิดเป็น 27.5% เป็นอัตราที่ก้าวกระโดด กระทบโครงสร้างตลาดแรงงาน หากไม่รวมราชการ นายจ้าง และเกษตรกรที่เป็นเจ้าของแปลงเกษตร จะทำให้มีแรงงานประมาณ 30 ล้านคน เข้าถึงคิดเป็นเงินค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นปีละ 1.044 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี 5.72% 

ดร.ธนิต ยอมรับว่า ที่ยกตัวเลขนี้ขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่า ราคาต้นทุนสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้น ส่วนที่กล่าวว่าจะทำให้รายได้ของพี่น้องแรงงานสูงขึ้นตรงนี้จริงบางส่วน แต่ที่ต้องแลกมาคือค่าครองชีพจะสูงไล่ตามทันค่าจ้าง และแรงงานส่วน หนึ่งอาจต้องสูญเสียตำแหน่งงาน ทั้งจากสถานประกอบการปิดตัว หรือชะลอการจ้างงาน รวมถึงนายจ้างจะเร่งนำเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ เข้ามาใช้แทนแรงงานเนื่องจากมีความคุ้มค่าและคุ้มทุนได้ดีกว่า 

ผู้ได้อานิสงส์จากนโยบายค่าจ้างแบบก้าวกระโดด คือ แรงงานต่างด้าว ตัวเลข ล่าสุด ณ เดือนเมษายน 2566 มีจำนวน 2.744 ล้านคน หากตัดแรงงานต่างด้าวประเภทที่เข้ามาตามประกาศ BOI และแรงงานทักษะประมาณแสนคน จะทำให้แรงงานต่างด้าวมีรายได้เพิ่มมากขึ้นเดือนละ 7,540 ล้านบาท หรือปีละประมาณ 90,480 ล้านบาท 

เงินจำนวนนี้ส่วนใหญ่จะถูกส่งกลับไปให้กับพ่อแม่พี่น้องในประเทศของเขา ตอนนี้ทางรัฐบาลเมียนมาและกัมพูชา คงค่านวนแล้วว่าจะทำให้เศรษฐกิจของเขาขยายตัวได้เท่าใด 

เวียดนามตีพุงรอออร์เดอร์โยกจากไทย

อีกประเทศหนึ่งที่จะได้อานิสงส์ คือเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งทั้งด้านการส่งออกและการลงทุนกับไทยคงนอนตีพุงรอรับทรัพย์จากคำสั่งซื้อหรือ “Order” ส่งออกที่จะโยกจากไทย รวมถึงการลงทุนที่นักลงทุนไทยที่มีศักยภาพอาจย้ายฐานการผลิตรวมถึงนักลงทุนจากประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะญี่ปุ่น การลงทุนใหม่ส่วนใหญ่คงเลือกที่จะไม่เข้าไทย งานนี้เวียดนามรับทรัพย์ไปเต็ม ๆ 

กรณีเช่นนี้เคยเกิดเมื่อครั้งขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรับจากวันละ 215 บาทเป็น 300 บาททั่วประเทศ ทำให้เกิดสภาวะช็อก ผลที่ตามมาคือการส่งออกถูกโยกไปประเทศเวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกแนวหน้าของอาเซียน ไทยเสียแชมป์ผู้ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าการ์เม้นท์ รองเท้ากีฬา อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ฯลฯ 

ขณะเดียวกันการลงทุนมีการย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามท่าให้ไทยเสียแชมป์ประเทศที่น่าลงทุนให้กับประเทศเวียดนาม  เศรษฐกิจที่เคยเติบโตได้ดีกลับเติบโตในอัตราต่ำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้แต่หลังโควิดจบเวียดนามฟื้นตัวได้ดี แต่ไทยยังติดกับดักกลายเป็นผู้ป่วยของอาเซียน