คลื่นรบกวนการเมือง - ค่าแรงส่อขึ้น โจทย์ระส่ำ "ก่อสร้างไทย" ส่อแววหดตัว

26 พ.ค. 2566 | 05:32 น.

ปัจจัยทางการเมือง - ค่าแรงส่อขึ้น โจทย์ระส่ำ "ก่อสร้างไทย" ส่อแววหดตัว เหลือมูลค่า 1,343,001 ล้านบาท ขณะศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินการเบิกจ่ายลงทุนภาครัฐ ที่ชะลอ อาจลามกระทบต่อแผนโครงการก่อสร้างใหม่ๆ

ย้อนไปปี 2565 มูลค่ารวมก่อสร้างไทย อยู่ที่ 1,364,400 ล้านบาท เติบโต 0.2% จากปีก่อนหน้า (ปี 2564 มีมูลค่า 1,362,057 ล้านบาท) โดยเป็นการฟื้นตัวตามลำดับ จากการกลับมาเปิดประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยับเคลื่อนไหวตามการลงทุนใหม่ของภาครัฐและเอกชนอีกครั้ง 

อย่างไรก็ดี โจทย์การเมือง และ เศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อทิศทางอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในปี 2566 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า "คลื่นรบกวนทางการเมือง" ในขณะนี้ อาจทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าว หดตัว -2% ถึง -1% หรือ มีมูลค่าราว 1,343,001 ล้านบาทเท่านั้น 
 

คาดการณ์ การลงทุนก่อสร้างของภาคเอกชนในปีนี้ จะอยู่ในภาวะ "ทรงตัว" โดยจะได้รับแรงหนุนไปต่อ จากโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ได้แก่ มิกซ์ยูส การฟื้นฟูโรงแรมรองรับการท่องเที่ยว และ ส่วนค้าปลีก ,การก่อสร้างโครงการที่พักอาศัย แต่ภาพแนวโน้มก็ยังมีความไม่แน่นอน รวมไปถึง อานิสงส์ จากโครงการ ร่วมทุน PPP บางโครงการที่อาจเดินหน้าต่อได้ แต่บางส่วนอาจมีความล่าช้าหรือต้องหยุดโครงการชั่วคราว ตลอดจนโครงการใหม่ๆ ที่ต้องรอการพิจารณาของภาครัฐก็อาจไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในปีนี้ ทำให้มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนจะอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวที่ 0.0% - 1.0% 

ขณะ การลงทุนก่อสร้างภาครัฐ ถูกประเมินว่า ตัวเลขอาจหดตัวในช่วง -3.5 ถึง -2.5% อันเนื่องมาจาก การเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนของภาครัฐเลื่อนออกไปหรือไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในปีนี้ นอกจากนี้ ยังอาจมีการทบทวนโครงการก่อสร้างภาครัฐในกรณีที่มีการจัดสรรงบประมาณใหม่อีกด้วย
 

คาดการณ์เมกะโปรเจ็กต์ ต่อเนื่องที่น่าจะเดินหน้าต่อได้ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ และโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย - จีน กรุงเทพฯ-โคราช  ส่วนเมกะโปรเจ็กต์ ที่ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่พิจาณา เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย ) และ รถไฟฟ้าสายสีสม ฝั่งตะวันตก เป็นต้น 

" เม็ดเงินลงทุนก่อสร้างภาครัฐ คงหดตัวจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ทั้งในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งสำคัญๆ รวมถึงยังต้องติดตามการพิจารณางบประมาณประจำปี 67 ซึ่งมีโอกาสที่การเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนของภาครัฐเลื่อนออกไป รวมไปถึงการทบทวนโครงการก่อสร้างภาครัฐใหม่ๆอีกด้วย "

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุว่า มูลค่าการก่อสร้างรวมในปีนี้ ที่อาจหดตัว จะส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แต่ผลประกอบการของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างแต่ละรายคงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะประเภทและความต่อเนื่องของงานก่อสร้างที่มีอยู่ รวมถึงความสามารถในการจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ทั้งราคาวัสดุก่อสร้างที่ยังยืนตัวสูงและแนวโน้มค่าแรงขั้นต่ำที่อาจปรับสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL ประเมิน ภาพรวมธุรกิจก่อสร้างไตรมาส 2 ว่า จะปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงไตรมาสแรก หลังปัญหา ด้านแรงงานก่อสร้างคลี่คลาย ส่งคนเข้าเข้าดำเนินงานได้ปกติ โดยยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเลือกตั้ง โดยเตรียมที่จะเข้ารับงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะมีการประมูลในอนาคต เช่น งานประเภทงานก่อสร้างระบบชลประทาน, งานทาง, งานก่อสร้างทางรถไฟ และ งานก่อสร้างสนามบิน พร้อมๆกับ การบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพงานก่อสร้างและบริหารต้นทุนให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน