วัดใจรัฐบาลใหม่ ไฟเขียว “ระบบตั๋วร่วม”

26 พ.ค. 2566 | 05:50 น.

“สนข.” ลุ้น รัฐบาลใหม่เคาะร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วม ดันจ่ายค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าสารพัดสีในอัตราเดียวกัน ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนซ้ำซ้อน เล็งตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม หนุนรายได้ผู้ประกอบการ แตะ 1.5 พันล้านต่อปี

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการศึกษาจัดทำแผนการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ที่ผ่านมาสนข.ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ…. ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วมแล้ว หลังจากนั้นจะนำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เสนอต่อคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (คตร.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่เป็นประธานและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป 

“หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบแล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนจะเริ่มประกาศและมีผลบังคับใช้ได้เมื่อไรยังตอบไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับกระบวนการพิจารณาในสภาฯด้วย”
 

ส่วนสาระสำคัญภายในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ…. เกี่ยวกับเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วม,ระเบียบวิธีการปฏิบัติการบังคับใช้,การจัดตั้งสำนักงานและกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ฯลฯ

นายปัญญา กล่าวต่อว่า สาเหตุที่การใช้ระบบตั๋วร่วมมีความล่าช้า เนื่องจากโครงการฯนี้เป็นการให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมตามความสมัครใจ ซึ่งทำให้ค่อนข้างยาก เพราะมีเรื่องของพ.ร.บ. ซึ่งเป็นกฎหมายภาคบังคับที่เข้ามาร่วมด้วย ทั้งนี้ในร่างพ.ร.บ.มีการระบุให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ซึ่งสนข.จะต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมและรูปแบบการตั้งสำนักงานฯ ตามที่ระบุไว้ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

เพื่อออกกฎหมายลูกมารองรับด้วย โดยการจัดตั้งกองทุนฯนั้นจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการมาดูแลกองทุนฯตามระเบียบกฎหมายของกรมบัญชีกลาง ซึ่งมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ขณะที่การตั้งสำนักงานในการบริหารจัดการดูแลระบบตั๋วร่วม จะมีการแต่งตั้งผู้บริหารดูแลสำนักงานฯ ด้วย
 

ขณะเดียวกันสนข.ได้มีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการที่ได้รับสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าแต่ละสายถึงโครงการฯดังกล่าวแล้ว เบื้องต้นจากการหารือในช่วงที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นด้วย หากมีการออกกฎระเบียบชัดเจนสามารถที่จะดำเนินการได้ 

วัดใจรัฐบาลใหม่ ไฟเขียว “ระบบตั๋วร่วม”

นายปัญญา กล่าวต่อว่า กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ยังติดปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าจะกระทบต่อการใช้ระบบตั๋วร่วมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่จะเร่งดำเนินการแก้ปัญหาให้แล้วเสร็จ ซึ่งการต่อสัญญาสัมปทานมองว่าเป็นคนละเรื่องกับการใช้ระบบตั๋วร่วม 

 

ส่วนกรณีที่ค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าแต่ละสายมีผู้ประกอบการสัญญาสัมปทานคนละรายจะเข้าร่วมในระบบตั๋วร่วมอย่างไรนั้น ตามหลักการแล้วระบบนี้จะเป็นการเสียค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าเพียงครั้งเดียว หากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ…. ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว  หลังจากนั้นในระยะต่อไปจะต้องศึกษาการคิดคำนวณอัตราค่าโดยสารต่อระยะทาง ฯลฯ 

 

“หากระบบรถไฟฟ้าทุกสายมีการใช้ระบบตั๋วร่วมจะต้องแก้สัญญาสัมปทานหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ…. ถึงแม้ว่าจะมีสัญญาสัมปทานเดิมอยู่แล้ว หากมีการกำหนดให้แก้ไขก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย”  

 

สำหรับแผนการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม โดยนำเอารายได้จากหลายส่วน อาทิ การสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ ส่วนแบ่งรายได้หรือผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ให้บริการขนส่งรายใหม่เมื่อสัญญาสัมปทานมีข้อสัญญาให้ต้องส่งเงินเข้ากองทุน ส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการตั๋วร่วม และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่กองทุน เป็นต้น โดยเบื้องต้น สนข.ประเมินว่าจะต้องใช้เงินจากกองทุนดังกล่าว เพื่อสนับสนุนรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรถไฟฟ้าที่มีรายได้ลดลงเฉลี่ยรวมปีละ 1,300 - 1,500 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตามสนข.จะดำเนินการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาเริ่มต้นศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการเจรจาธุรกิจในการกำหนดและประกาศใช้โครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม (Common Fare) สำหรับระบบขนส่งมวลชนที่เข้าร่วมในระบบตั๋วร่วมทั้งหมด หลังจากนั้น สนข.เตรียมเสนอของบประมาณประจำปี 2567 ราว 1,600 ล้านบาท เพื่อศึกษารูปแบบการจัดตั้งบริษัทบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และพัฒนาศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) ต่อไป