ลุ้น 3 ปี สร้าง “มอเตอร์เวย์แหลมฉบัง-ปราจีนฯ” 2.1 แสนล้าน

19 พ.ค. 2566 | 05:41 น.

“ทางหลวง” ลุยศึกษามอเตอร์เวย์แหลมฉบัง-นครราชสีมา 2.1 แสนล้านบาท เตรียมนำร่องเฟสแรก ช่วงแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี ดึงเอกชนร่วมทุน PPP สัมปทาน 30 ปี เร่งตอกเสาเข็มปี 69 เปิดบริการปี 73 ขณะที่ช่วงปราจีนบุรี-นครราชสีมา ลุ้นเคาะแนวเส้นทางยึดแผน MR-MAP

 “มอเตอร์เวย์แหลมฉบัง-นครราชสีมา” 1 ในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ที่จะช่วยสนับสนุนการขนส่งระหว่างภูมิภาค เชื่อมต่อจากด่านการค้าหนองคาย และมีส่วนเพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ผ่านระบบขนส่งโลจิสติกส์ทั้งทางบกและทางรางในอนาคต

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) ชลบุรี (แหลมฉบัง) - นครราชสีมา รวมระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 215,961 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างงานโยธา 193,194 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 22,767 ล้านบาท เบื้องต้นโครงการฯจะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย

ระยะที่ 1 ช่วงชลบุรี (แหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี  ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียด (Detail Design) และศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) แล้วเสร็จ โดยช่วงดังกล่าวได้เสนอรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณาแล้ว หลังจากนั้นจะดำเนินการศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) และเปิดประมูลต่อไป คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2569-2572 ระยะเวลาก่อสร้างราว 4 ปี เปิดให้บริการภายในปี 2573
 

ส่วนระยะที่ 2 ช่วงปราจีนบุรี-นครราชสีมา ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาจัดทำร่างแนวเส้นทางการพัฒนาโครงการที่เหมาะสมตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) ซึ่งจะต้องรอผลการศึกษา MR-MAP แล้วเสร็จก่อน โดยเส้นทางดังกล่าวเป็นแนวเส้นทางที่อยู่ในแผนระยะเร่งด่วน หลังจากนั้นจะดำเนินการออกแบบศึกษารายละเอียดต่อไป คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเปิดประมูลและก่อสร้างภายในปี 2575-2578 ระยะเวลาก่อสร้างราว 4 ปี และเปิดให้บริการภายในปี 2579 

ที่ผ่านมาจากผลการศึกษาของกรมทางหลวง (ทล.) พบว่า ด้านการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจของโครงการพบว่ามีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) เท่ากับ 13.4% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 11,902.74 ล้านบาท และค่าอัตราส่วนระหว่างมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์ต่อค่าใช้จ่าย (B/C Ratio) เท่ากับ 1.2
 

ทั้งนี้รูปแบบการก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองชลบุรี (แหลมฉบัง) - นครราชสีมา มีรูปแบบทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร (ช่วง กม.66+750 กม.124.065) รูปแบบทางหลวงขนาด 6 ช่องจราจร (ช่วง กม.9+250 ถึง กม.66+750) รูปแบบทางหลวงขนาด 8 ช่องจราจร (ช่วง กม.0+000 ถึง กม.9+250) และรูปแบบทางหลวงยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ช่วง กม.17+900 ถึง กม.29+100) 

ลุ้น 3 ปี สร้าง “มอเตอร์เวย์แหลมฉบัง-ปราจีนฯ” 2.1 แสนล้าน

ส่วนรูปแบบด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางของโครงการฯ จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.ด่านศรีราชา 18 ช่อง เข้า 5 ช่อง ออก 13 ช่อง 2. ด่านบ่อวิน 14 ช่อง เข้า 5 ช่อง ออก 9 ช่อง 3. ด่านหนองใหญ่ 12 ช่อง เข้า 5 ช่อง ออก 7 ช่อง และ 4. ด่านบ่อทอง 8 ช่อง เข้า 4 ช่อง ออก 4 ช่อง

 

นอกจากนี้โครงการฯได้ออกแบบระบบเก็บค่าผ่านทางเป็น 3 ระบบ ประกอบด้วย 1.ระบบเก็บค่าผ่านทางโดยใช้พนักงาน (Manual Toll Collection System) 2.ระบบเก็บค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection System) 3.ระบบเก็บค่าผ่านทางไร้ไม้กั้น (M-Flow) และมีที่พักริมทาง 9 แห่ง ประกอบด้วย จุดพักรถ 4 แห่ง ,สถานที่บริการทางหลวง 3 แห่ง และศูนย์บริการทางหลวง 2 แห่ง

 

อย่างไรก็ตามแนวเส้นทางโครงการฯเริ่มต้นบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และไปสิ้นสุดบริเวณทางหลวงหมายเลข 359 ครอบคลุมพื้นที่ศึกษาจำนวน 3 จังหวัด 10 อำเภอประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี ได้แก่ อำเภอบางละมุง อำเภอศรีราชา อำเภอหนองใหญ่ อำเภอบ้านบึง อำเภอบ่อทอง และอำเภอเกาะจันทร์ ขณะเดียวกันยังครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ อำเภอแปลงยาว อำเภอสนามชัยเขต และ อำเภอพนมสารคาม ส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ได้แก่ อำเภอศรีมหาโพธิ