“กีรติ กิจมานะวัฒน์” เอ็มดี ทอท.ป้ายแดง ปลุก 5 บิ๊กโปรเจ็กต์ อัพเกรดสนามบิน

12 พ.ค. 2566 | 04:31 น.

เปิดตัว “กีรติ กิจมานะวัฒน์” ขึ้นแท่นเอ็มดีป้ายแดง ทอท. ลุย 5 บิ๊กโปรเจ็กต์ ตั้งเป้าพัฒนาสนามบิน 7.8 พันล้านบาท ภายใน 4 ปี หวังอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารเดินทางเข้าประเทศ

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้เปิดสรรหาตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่แทนนายนิตินัย ศิริสมรรถการ ที่หมดวาระเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 โดย “กีรติ กิจมานะวัฒน์”  1 ใน 4 ผู้สมัครที่มีความสามารถ ซึ่งได้คะแนนอันดับ 1 รวม 95 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม 

ที่ผ่านมา “กีรติ กิจมานะวัฒน์” เคยนั่งที่ปรึกษาประธานกรรมการบริหาร บริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาใน หลายโครงการเมกะโปรเจ็กต์สำคัญๆ และอีกหลายหน่วยงาน อาทิ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ ไทย (รฟม.), สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในหลายโครงการ เช่น โครงการตั๋วร่วม, โครงการรถไฟฟ้าในภูมิภาค, โครงการสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินส่วนต่อขยาย, โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม, โครงการต่อสัญญาทางด่วน ฯลฯ
 

หลังจากนั่งเก้าอี้รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง ทอท.เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ล่าสุดได้ขึ้นแท่นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ที่มีภารกิจหลักในการเข้ามาบริหาร 6 ท่าอากาศยานหลักของประเทศ

 

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงที่แสดงวิสัยทัศน์ก่อนเข้ารับตำแหน่งนี้ มองว่าการเป็นผู้บริหารท่าอากาศยานที่ดี เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการที่เข้ามาเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (กอญ.) ของ ทอท. คือต้องทำให้ผู้โดยสารที่เดินทางรู้สึกว่าได้รับ ความสะดวกสบาย และได้รับการดูแลอย่างแท้จริง สิ่งสำคัญที่เป็นเป้าหมายอันดับหนึ่ง คือ การขยายศักยภาพของท่าอากาศยานให้ดีและทำให้ผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาได้รับความสะดวกสบาย ภายในระยะเวลา 4 ปี 
 

 “จากวิกฤตเศรษฐกิจและสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ทอท.ไม่ได้มีการลงทุนมานาน แต่ปัจจุบันเรามั่นใจว่าอุตสาหกรรมการบินของโลกไม่มีถอยหลัง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เหมาะแก่การลงทุนจนถึงอนาคต เบื้องต้นเรามีแผนระยะยาว 4 ปี ในการขยายศักยภาพของท่าอากาศยานทุกแห่งที่อยู่ในความดูแลของทอท. โดยประเมินว่าการพัฒนาท่าอากาศยานทุกแห่ง ทอท.จะใช้เงินลงทุนรวม 78,000 ล้านบาท จำนวน 5 โครงการ”  

“กีรติ กิจมานะวัฒน์” เอ็มดี ทอท.ป้ายแดง ปลุก 5 บิ๊กโปรเจ็กต์ อัพเกรดสนามบิน

สำหรับโครงการขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงินลงทุนประมาณ 9,000 ล้านบาท ปัจจุบันโครงการฯจะเริ่มเปิดประมูลภายในปี 2566 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2567 ระยะเวลาก่อสร้าง 3-4 ปี คาดเปิดให้บริการได้ภายในปี 2571 


 “หลังจากที่มีการถกเถียงในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความเห็นร่วมกันพร้อมผลักดันโครงการฯนี้เป็นโครงการแรกก่อน เพราะเป็นโครงการฯที่ดำเนินการแล้วได้ประโยชน์ เนื่องจากโครงการฯมีการเพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสารคิดเป็น 30% จำนวน 60,000 ตารางเมตร (ตรม.) จากเดิมที่มีอาคารผู้โดยสารหลัก จำนวน 200,000 ตารางเมตร (ตรม.) ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น” 

 

ส่วนโครงการขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันตก (West Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงินลงทุนประมาณ 9,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการศึกษาแผนแม่บทก่อน คาดแล้วเสร็จภายในกลางปี 2567 โดยจะดำเนินการออกแบบเพื่อศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ ใช้ระยะเวลา 1 ปี หลังจากนั้นจะต้องเสนอสำนักงานสภาพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พิจารณาก่อน และเริ่มเปิดประมูลต่อไป คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างต้นปี 2569 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการปี 2572  

 

นายกีรติ ให้สัมภาษณ์ต่อ ว่า ขณะที่ความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง
ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนประมาณ 36,000 ล้านบาท เบื้องต้นตามแผนจะเริ่มเปิดประมูลได้ภายในปลายปี 2567 และเริ่มก่อสร้างภายในต้นปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี เปิดให้บริการปี 2572 

 

ทั้งนี้โครงการท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 เป็นการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยรื้ออาคารผู้โดยสารในประเทศหลังเก่าที่ไม่ได้ใช้งานแล้วก่อสร้างเป็นอาคารใหม่ นอกจากนี้ทอท.จะดำเนินการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ปัจจุบันเป็นอาคารรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศและอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ปัจจุบันเป็นอาคารรองรับผู้โดยสารภายในประเทศร่วมกัน ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 40 ล้านคนต่อปี

 

ด้านความคืบหน้าโครงการขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 วงเงินลงทุนประมาณ 12,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบความเหมาะสมของโครงการฯ หลังจากนั้นจะเริ่มเปิดประมูลและก่อสร้าง ปลายปี 2567 ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี เปิดให้บริการปี 2572 ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยปรับปรุงอาคารหลังเดิมทั้งหมด เพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความแออัดภายในท่าอากาศยานได้

 

ปิดท้ายความคืบหน้าโครง การขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนประมาณ 12,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาพบว่าท่าอากาศ ยานภูเก็ตมีผู้โดยสารภายในประเทศและผู้โดยสารระหว่างประเทศเดินทางมาใช้บริการรวม 12 ล้านคนต่อปี ซึ่งเกินขีดความสามารถในการรองรับของท่าอากาศยานฯ ทำให้ทอท.มีแผนพัฒนาโครงการฯใน ระยะที่ 2 เบื้องต้นจะเริ่มดำเนินการเปิดประมูลภายในปลายปี 2567 เริ่มก่อสร้างภายในต้นปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี พร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2571 โดยเป็นการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ รองรับผู้โดยสารเดินทางเพิ่มอีก 6 ล้านคนต่อปี

 

หลังจากนี้ต้องจับตาดูว่า ผู้บริหารคนใหม่ของทอท.จะสามารถผลักดันพัฒนาท่าอากาศยานแต่ละแห่ง ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่