เปิดข้อเสนอเอกชน รัฐบาลใหม่ ต้องทำทันที 100 วันแรก

06 พ.ค. 2566 | 09:15 น.

โค้งสุดท้ายการหาเสียงเลือกตั้งที่กำลังฝุ่นตลบ โพลชี้ผลสำรวจประชาชน พรรคโน้นพรรคนี้ได้คะแนนนิยมมีแนวโน้มจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล บ้างก็ว่าพรรคใหญ่บางพรรคจะแลนด์สไลด์ได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียว แต่ส่วนใหญ่ชี้จะได้รัฐบาลจากพรรคผสม

ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ไม่ว่าพรรคจากซีกที่เรียกตัวเองว่าฝั่งประชาธิปไตย หรือฝั่งอนุรักษ์นิยมจะได้เป็นว่าที่รัฐบาลใหม่ และหน้าตาจะเป็นอย่างไร แต่มีการบ้านจากหลายฟากฝั่งฝากความหวังว่ารัฐบาลใหม่ให้เร่งดำเนินการในช่วง 100 วันแรก

โดยที่มีนํ้าหนักส่วนหนึ่งที่รัฐบาลต้องรับฟังเสียงสะท้อนคือ เสียงจากภาคเอกชนที่มีความสำคัญในทุกยุคทุกสมัยที่ได้ร่วมมือกับรัฐบาลในการขับคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวไปข้างหน้า และแข่งขันกับนานาประเทศในเวทีโลกที่ปัจจุบันมีความท้าทายใหม่ ๆ ถาโถมเข้ามาเป็นรายวัน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หนึ่งในสถาบันหลักภาคเอกชนระบุว่า ในมุมมองภารกิจเร่งด่วนว่าที่รัฐบาลใหม่ที่ต้องเร่งดำเนินการช่วง 100 วันแรก ต้องให้นํ้าหนักกับนโยบายฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจที่พรรครัฐบาลได้หาเสียงไว้ที่ต้องเร่งทำทันที ไม่ว่าเข้ามาแล้วจะมีการปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายใหม่อย่างไรก็ตาม ควรเร่งให้แล้วเสร็จ เพื่อให้เม็ดเงินต่าง ๆ เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว

สนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้คือการบริหารจัดการราคาพลังงานต่าง ๆ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจให้มีความเหมาะสม โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ค่านํ้า ค่าจ้างแรงงาน อัตราดอกเบี้ย จากปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

เปิดข้อเสนอเอกชน รัฐบาลใหม่ ต้องทำทันที 100 วันแรก

สอดคล้องกับ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ที่ให้ความเห็นว่า การบริหารจัดการเรื่องค่าไฟฟ้าที่เป็นค่าใช้จ่ายของภาคครัวเรือน รวมถึงเป็นต้นทุนสำคัญของภาคการผลิตทั่วประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ และสภาพคล่องของผู้ประกอบการเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาดูแลแก้ไข

ชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ ได้แก่ การกระตุ้นการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก การดึงการลงทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมการลงทุนในประเทศผ่านโครงการต่าง ๆ การเร่งระบายสินค้าเกษตร และตั้งงบประมาณสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกร และ SME ให้สามารถยกระดับการพัฒนาคุณภาพให้ส่งออกได้ รวมถึงการสนับสนุนและยกระดับการผลิตให้สอดคล้องด้านสิ่งแวดล้อมและผลิตสินค้าให้รองรับมาตรการต่าง ๆ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรป ทั้งในเรื่อง CBAM, คาร์บอนเครดิต เป็นต้น

 ขณะเดียวกันมีความท้าทายโลกยุคใหม่ที่รัฐบาลหลังเลือกตั้งต้องเตรียมรับมือ ได้แก่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่โลกเกิดการแบ่งขั้ว รัฐบาลใหม่ต้องระมัดระวังเรื่องนี้เป็นสำคัญ, ธนาคารล้ม/เศรษฐกิจชะลอตัว/เงินเฟ้อ ที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นรอบด้าน ที่ต้องติดตามและกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เผยว่า ล่าสุด ทางกกร. ได้จัดทำสมุดปกขาวนำเสนอใน 6 ประเด็นหลักเพื่อให้พรรคการเมืองนำไปแก้ปัญหาของประเทศ ประกอบด้วย 1. การยกระดับความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ของประเทศ โดยส่วนหนึ่งขอให้ภาครัฐเร่งจัดตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านต้นทุนและรายจ่ายของทุกภาคส่วน

เกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

2.ด้าน Ease of Doing Business ปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัยที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ 3.ด้าน Digital Transformation เช่น ส่งเสริมการเป็นเทคโนโลยีฮับของประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี เพื่อดึงเม็ดเงินและทุนระดับโลกเข้าประเทศ 4.ด้าน Human Development เช่น การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ที่ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ การสนับสนุนการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานไทย และต่างด้าว

 5.ด้าน SME มีมาตรการช่วยเหลือให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกและรวดเร็ว เร่งปรับโครงสร้างหนี้ และจัดตั้งกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการ SME และ 6.ด้าน Sustainability เช่น ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG และแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

เสียงสะท้อนข้อเสนอของผู้นำภาคเอกชนข้างต้น หากพรรคการเมืองว่าที่รัฐบาลใหม่นำไปใช้เป็นเข็มทิศในการบริหารประเทศ เชื่อแน่นอนว่าจะได้ใจ และความร่วมมือจากภาคเอกชนที่พร้อมให้ความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนไปด้วยกัน และจะนำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน