ชี้เป้า! เครื่องปรับอากาศไทย2 เดือนแรกส่งออกพุ่ง 1.4 พันล้าน โต 11%

27 เม.ย. 2566 | 02:59 น.

พาณิชย์เป้า! เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนไทยโดนใจต่างชาติ ส่งออก 2 เดือนแรก ปี 66 โต 11% มูลค่ากว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นแท่นเบอร์ 2 โลก ตลาดส่งออกเติบโตดี สหรัฐฯ อียู อาเซียน ชวนใช้ FTA ขยายส่งออก

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศ พบว่า เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย และมีมูลค่าการส่งออกเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศจำนวนมาก ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน อันดับ 2 ของโลก โดยในปี 2565 ไทยส่งออกไปตลาดโลก มูลค่า 7,044 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 9%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ. 2566) ไทยส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนไปตลาดโลก มูลค่า 1,423 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวถึง 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

โดยเครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือติดผนัง มีสัดส่วนถึง 68% ของการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนทั้งหมด ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อาเซียน ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น 

อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศของไทยมีโอกาสส่งออกไปตลาดโลกมากขึ้น เนื่องจากได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอย่างครบวงจร รวมทั้งการเติบโตของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีกับคู่ค้า 18 ประเทศ ขยายส่งออกสินค้าไปตลาดการค้าเสรี ซึ่งจะช่วยปลดล็อคกำแพงภาษีและสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทย

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันคู่ค้า FTA 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนจากไทยแล้ว เหลือเพียง 2 ประเทศ ได้แก่ จีนและอินเดีย ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าบางรายการ อาทิ จีน เก็บภาษีเครื่องปรับอากาศในยานยนต์ อัตรา 5% และอินเดีย เก็บภาษีเครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือผนัง และเครื่องปรับอากาศในยานยนต์ อัตรา 5%

“กรมเดินหน้าผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดสินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนเพิ่มเติมให้ไทย ภายใต้การเจรจา FTA กรอบต่างๆ ทั้งการทบทวนความตกลง FTA ที่มีอยู่แล้ว และที่อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบทางด้านภาษี และช่วยขยายส่วนแบ่งตลาดให้กับสินค้าไทยในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการควรพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ทันสมัย คำนึงถึงความต้องการของตลาด มุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน อาทิ การใช้เทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์ (Inverter) เพื่อประหยัดพลังงาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือการควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่”