เดือด ! ค่าไฟแพง กระทบขีดแข่งขันประเทศ เอกชนบี้ลดค่า Ft ลงอีก

26 เม.ย. 2566 | 06:30 น.

เอกชนชี้ค่าไฟงวดใหม่ 4.70 บาท ยังสูงกว่าเพื่อนบ้านอื้อ สภาอุตฯชี้เป็นเดิมพันอนาคตความสามารถในการแข่งขันของประเทศครั้งใหญ่ ทั้งภาคอุตฯ การค้า การลงทุน หอการค้าฯจี้เร่งตั้ง กรอ.พลังงาน ดึงเอกชน-ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย รัฐตื่นจัด 1.1หมื่นล้านช่วยค่าไฟ

ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(บอร์ด กกพ.)วันที่ 24 เม.ย. 2566 มีมติปรับลดค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค-ส.ค. 2566 จาก 4.77 บาทต่อหน่วย เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย ที่จะเรียกเก็บจากบ้านที่อยู่อาศัย และภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และบริการ ในอัตราเดียวกัน สำหรับรอบบิลใหม่เดือน พ.ค.นี้

ท่ามกลางเสียงสะท้อนของภาคเอกชนในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ออกมาเคลื่อนไหวก่อนหน้า โดยเสนอให้ กกพ.ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่เป็นต้นทุนและเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของเดือน เม.ย.2566 เฉลี่ยที่ 14.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู มาใช้คำนวณค่าไฟฟ้างวดใหม่ แทนใช้ราคา LNG เดือน ม.ค. 2566 ที่ 19.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งจะทำให้ค่าไฟลดลงได้อีก มาอยู่ที่ระดับ 4.40-4.50 บาทต่อหน่วย

  • ยื่นนายกฯช่วยไม่เป็นผล

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ค่าไฟฟ้างวดใหม่ในส่วนของภาคที่อยู่อาศัยลดลง 2 สตางค์ต่อหน่วย (งวดม.ค.-เม.ย.อยู่ที่ 4.72 บาท) และภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และบริการลดลง 63 สตางค์ต่อหน่วย (จากเดิม 5.33 บาทต่อหน่วย) ก่อนหน้านี้ กกร.ได้ยื่นข้อเสนอขอให้ กกพ.ทบทวนใน 2 เรื่องที่มีผลต่อค่าไฟฟ้างวดใหม่คือ 1.ขอให้ยืดการชำระหนี้ค่าไฟฟ้า(วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท ที่กฟผ.รับภาระแทนประชาชนไปก่อนหน้านี้) จาก 2 ปี เป็น 3 ปี (ล่าสุด กฟผ.ได้เสนอเงื่อนไขขอรับภาระยืดหนี้จาก 2 ปี เป็น 2 ปี 4 เดือน แบ่งเป็น 7 งวด +ดอกเบี้ย)

2.ให้นำราคา Spot ก๊าซ LNG 14-15 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ที่เป็นราคาปัจจุบัน มาใช้ในการคำนวณค่า Ft แทนใช้ราคาของเดือน ม.ค. 2566 ที่อยู่ที่ประมาณ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู เนื่องจากเวลานี้ทิศทางราคา LNG ลดลงจากฤดูหนาวของยุโรปได้ผ่านไปแล้ว ซึ่งหากใช้ราคา LNG ที่เป็นปัจจุบันจะช่วยลดค่า Ft หรือค่าไฟลงได้อีกประมาณ 20%

เกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“ทั้งสองเรื่องเราเคยยื่นขอให้มีการทบทวน และชี้แจงผลดีผลเสียที่จะตามมาไปแล้ว นอกจากนี้กกร.ยังได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (บอร์ด กพช.) เพื่อขอให้สั่งการให้กกพ.ได้พิจารณาทบทวนค่าเอฟที งวดใหม่ (ยื่นหนังสือเมื่อ 10 เม.ย.ระบุอัตราเหมาะสมไม่ควรเกิน 4.40 บาทต่อหน่วย) ทราบว่านายกรัฐมนตรีได้รับเรื่องและสั่งการไปแล้ว แต่ กกพ. ดำเนินการให้แค่ข้อแรก แต่ข้อที่สองไม่ได้ดำเนินการให้ตามที่ขอ”

 

  • เดิมพันขีดแข่งขันประเทศ

อย่างไรก็ดี อัตราค่าไฟฟ้าใหม่ของไทยที่ยังสูง ถือเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ต่ออนาคตความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การค้า และการลงทุน รวมถึงต่อค่าครองชีพอันหนักอึ้งของคนไทยทุกคน โดยภาคอุตสาหกรรมทำให้ยังมีต้นทุนด้านพลังงานที่สูง ภาคการค้าจากทิศทางการส่งออกปีนี้ที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งเดิมไทยเสียเปรียบเรื่อง FTA ที่มีน้อยกว่าเวียดนาม และต้นทุนค่าแรงที่สูงกว่า มาเจอค่าไฟที่สูงถือเป็นจุดสลบต่อการส่งออก ทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบในการแข่งขัน จากเวลานี้ทั่วโลกต้องการสินค้าดีและราคาถูก รวมถึงจะส่งผลกระทบต่อการดึงการลงทุนจากต่างประเทศ จากศึกษาต้นทุนรอบด้านแล้วมาเจอค่าไฟแพงกว่าอาจไปที่อื่น เวลานี้เทียบศักยภาพการดึงการลงทุน ต่างชาติให้ความสนใจลงทุนเวียดนามกับไทย สัดส่วน 3 : 1 (เปรียบเทียบจาก 4 โรงไปเวียดนาม 3 โรง มาไทย 1 โรง)

เดือด ! ค่าไฟแพง กระทบขีดแข่งขันประเทศ เอกชนบี้ลดค่า Ft ลงอีก

  • กฟผ.แจงที่มาลดได้แค่ 7 สต.

แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เผยว่า ที่ผ่านมา กฟผ.ได้ส่งผลการศึกษาประมาณการค่าเอฟทีประจำงวด พ.ค.-ส.ค. 2566 ให้กกพ.พิจารณาที่ปรับสมมุติฐานใหม่ โดยประมาณการราคาแอลเอ็นจีนำเข้าในรูปแบบ Spot LNG ที่ 14.87 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู อัตราแลกเปลี่ยนที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และราคาก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 355 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่าเชื้อเพลิงฐาน (FAC) ลดลงมาอยู่ที่ 56.29 สตางค์ต่อหน่วย แต่กกพ.ไม่ดำเนินการโดยอ้างถึงค่า FAC ที่ใช้คำนวณ 63.37 สตางค์ต่อหน่วยนั้น ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายไปแล้ว จึงไม่สามารถนำมาเป็นสมมุติฐานใหม่ในการคำนวณค่าเอฟทีงวดนี้ได้ แต่กกพ.ใช้วิธีขอให้กฟผ.ทบทวนภาระค้างรับค่าเอฟทีสะสม (AF) แทนซึ่งทำให้ค่าเอฟทีปรับลดลงมา 7.08 สตางค์ต่อหน่วย เท่านั้น

  • กกร.ถกด่วน! ค่าไฟใหม่

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มติ กกพ.ที่ประกาศลดค่าไฟฟ้าลง 7 สตางค์ เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย ถือเป็นแนวโน้มที่ดี แต่เอกชนเชื่อว่าสามารถลดลงได้มากกว่านี้ ซึ่งรัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจและไม่รอเวลา เพราะทุกภาคส่วนได้รับความเดือดร้อนไม่ใช่เฉพาะภาคธุรกิจ ประเด็นค่าไฟนี้ในการประชุม กกร.วันที่ 3 พ.ค.นี้ ภาคเอกชน 3 สถาบันจะมีการหยิบยกมติลดค่าไฟฟ้าลง 7 สตางค์ (จาก 4.77 เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย) มีผลในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค.มาหารืออย่างเร่งด่วนว่าผลที่ออกมาดังกล่าวภาคธุรกิจมีความเห็นอย่างไร

สนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“หากรัฐบาลใหม่ไม่เร่งแก้ไขปัญหา หรือแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟไม่ได้จะกระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแน่นอน เพราะวันนี้ค่าไฟฟ้าของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน กระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน โดยรวมโดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิต นักลงทุนต่างชาติจะดึงเข้ามาก็ยากขึ้น เทียบค่าไฟเวลานี้อินโดนีเซียอยู่ที่ 3.37 บาทต่อหน่วย เวียดนาม 2.74 บาทต่อหน่วย และมาเลเซียอยู่ที่ 1.76 บาทต่อหน่วย จุดยืนของ กกร.คืออยากให้มีการเร่งรัดการจัดตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน เพื่อสร้างความชัดเจนให้กับสังคม และทุกฝ่ายยอมรับได้”

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาภาคธุรกิจพยายามตรึงราคาสินค้าและบริการไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นไปมากกว่านี้ แต่จากค่าไฟฟ้าที่เป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญยังสูง ในบางสินค้าที่แบกรับภาระต้นทุนไม่ไหวอาจจะมีการปรับราคาเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งในเรื่องนี้ต้องเห็นใจผู้ประกอบการเช่นกัน ขณะที่หลายพรรคการเมืองชูนโยบายแก้ปัญหาค่าไฟ เช่น ลดค่าไฟ การปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ถือเป็นเรื่องที่ดีที่พรรคการเมืองให้ความสำคัญ ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ แต่ที่สำคัญต้องสามารถทำได้จริง และไม่บิดเบือนกลไกตลาด หรือใช้งบประมาณประเทศมากจนสร้างภาระทางการคลัง เรื่องนี้ฝากพรรคการเมืองที่จะได้จัดตั้งรัฐบาลดึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้วย

  • "บิ๊กตู่"อัด1.1หมื่นล.อุ้มค่าไฟ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมตรี ปฎิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 เม.ย.2566 ได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือระยะเร่งด่วนในส่วนค่าไฟฟ้า ที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น โดยได้ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย (กลุ่มเปราะบาง) ที่จะครบกำหนดเดือนเมษายนนี้ต่อไป สำหรับงวดพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 กำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราส่วนลดเดียวกัน

ทั้งนี้ บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า 1-150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย มีผลต่างค่าไฟฟ้า ตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) เรียกเก็บ และส่วนลด 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 151-300 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 67.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) เรียกเก็บ และส่วนลด 26.39 สตางค์ต่อหน่วย) คาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือประมาณ 18.36 ล้านราย ใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 7,602 ล้านบาท

เดือด ! ค่าไฟแพง กระทบขีดแข่งขันประเทศ เอกชนบี้ลดค่า Ft ลงอีก

นอกจากนี้ มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากค่าไฟฟ้า จำนวน 150 บาท ต่อรายให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ในรอบบิลเดือนพฤษภาคม 2566 ที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ให้บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน จำนวน 23.40 ล้านราย ใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 3,510 ล้านบาท จากงบกลางฯ

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในห้วงการยุบสภา คณะรัฐมนตรี จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้นำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ให้ความเห็นชอบการใช้งบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 169 (3) กำหนดต่อไป

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3882 วันที่ 27 -29 เมษายน พ.ศ. 2566