สภาอุตฯชี้เติมเงิน 1 หมื่นพรรคเพื่อไทย ช่วยกระชาก ศก. แต่ไม่ควรใช้บ่อย

08 เม.ย. 2566 | 02:58 น.

ประธาน ส.อ.ท.ไม่ค้านพรรคเพื่อไทยชูนโยบายเติมเงิน 1 หมื่นบาทช่วยประชาชนมีกำลังซื้อ กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ แนะแต่ไม่ควรใช้บ่อย เพราะเป็นภาระงบประมาณรัฐบาล จี้เร่งแก้ปัญหานี้ครัวเรือนสูงกดทับกำลังซื้อ

พรรคเพื่อไทย "คิดใหญ่ ทำเป็น"มีนโยบาย ดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท สำหรับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน ที่คาดว่าจะใช้เงินไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ที่นายเศรษฐา  ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดต นายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ระบุนโยบายดังกล่าวเพื่อต้องการกระตุก กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในท้องถิ่น ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างบล็อกเชน ซึ่งสามารถระบุวิธีการใช้เงินว่าจะนำไปใช้จ่ายอะไรได้บ้างในรัศมี 4 กิโลเมตร โดยไม่สามารถใช้ในพื้นที่นอกบัตรประชาชนได้

เป้าหมายครั้งนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ ให้มีเงินหมุนในระดับชุมชน และหมู่บ้านไปพร้อม ๆ กันทั่วประเทศ และเพื่อสร้างแรงจูใจให้คนหันมาใช้ระบบการเงินยุคใหม่โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนที่สามารถเขียนเงื่อนไขการใช้เงินตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้ โดยจะจำกัดไม่ให้ใช้ในรูปแบบอื่นที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้ในการพนัน ใช้หนี้นอกระบบ เป็นต้น

ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวถือเป็นโลกการเงินยุคใหม่ที่แตกต่างจากแอปเป๋าตังที่เป็นโลกการเงินยุคเก่าจะเป็นการจุดสตาร์ทให้ประชาชนลุกขึ้นเดินมาทำมาหากินอีกครั้ง และหากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ได้จัดตั้งรัฐบาลคาดนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต จะดำเนินการทันทีในวันที่ 1 มกราคม 2567

สภาอุตฯชี้เติมเงิน 1 หมื่นพรรคเพื่อไทย ช่วยกระชาก ศก. แต่ไม่ควรใช้บ่อย

ขณะที่ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานนโยบาย และประธานกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อห่วงใยเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณในนโยบายดังกล่าว ว่าจะเอาเงินมาจากไหน โดยระบุว่า มาจากการประเมินของหน่วยงานของรัฐ ที่คาดว่าจะมีการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 260,000 ล้านบาท และมาจากภาษีต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณแสนกว่าล้านบาท รวมทั้งงบประมาณจากโครงการต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้แล้วจะนำมาใช้สำหรับนโยบายนี้

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการเติมเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทให้กับประชาชนของพรรคเพื่อไทย ว่า มีเป้าหมายกระตุ้นหรือกระชากเครื่องเศรษฐกิจเฉพาะจุด ไปพร้อม ๆ กันทั้งประเทศได้อย่างแม่นยำ โดยจะเอาเงินใส่กระเป๋าเงินดิจิทัลของประชาชนที่จะสร้างขึ้นใหม่อีกใบ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในท้องถิ่น มีเงินหมุนเวียนและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ตามเงื่อนไขที่กำหนด ฟังแล้วถ้าเป็นทางเศรษฐศาสตร์ก็เข้าใจ แต่จะสำเร็จ หรือไม่สำเร็จขึ้นกับหลายกลไกที่จะต้องนำมาประกอบกัน

เกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

“ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ของนโยบายแต่ละพรรคในช่วงนี้ก็มีผสมผสานและแฝงประชานิยมค่อนข้างมาก ซึ่งประชานิยมสามารถใช้ได้ในสัดส่วนที่เหมาะสม ในจังหวะที่เหมาะสม แต่อย่าใช้ยาว ๆ และใช้บ่อย ๆ ไม่ดี ควรใช้ระยะสั้นหรือใช้ในเวลาที่เหมาะสมเพื่อกระชาก หรือการกระตุ้น เป็นการช่วยที่ทันการณ์ ช่วยแบบฉุกเฉินถือว่าดี แต่ไม่ควรจะใช้นาน และใช้บ่อยจะกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ มีแต่จะใช้เงินหรือใช้งบประมาณเยอะ"

แต่สุดท้ายแล้วต้องทำควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ความง่ายในการทำธุรกิจ เรื่องกฎหมายในการทำธุรกิจ การลดความเหลื่อมล้ำ การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เวลานี้ยังสูงกว่า 88-89% ต่อจีดีพี ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

ทั้งนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังไปกดทับกำลังซื้อ ถ้าไม่แก้ตรงนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาต่าง ๆ ก็ยังไม่ได้ผล เปรียบเสมือน “นโยบายยาหม่อง” ที่คงต้องใช้ยาหม่องอีกหลายกระปุกในการที่จะทา ปวดท้องก็เอายาหม่องทาท้อง ปวดหัวก็ทาขมับไปเรื่อย หมดอีกก็ควักทาอีก จนท้ายสุดผิวหนังก็ด้านหมด และโรคข้างในก็ยังไม่ได้แก้ เป็นการทาเพื่อบรรเทาก่อนพาไปหาหมอ

สภาอุตฯชี้เติมเงิน 1 หมื่นพรรคเพื่อไทย ช่วยกระชาก ศก. แต่ไม่ควรใช้บ่อย

“ถามว่าคิดอย่างไร คือต้องฟังทั้งหมด เท่าที่ฟัง และเท่าที่เข้าใจคือเขาก็คงมีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการกระชาก เติมเงินเติมกำลังซื้อให้คน เพื่อจุดสตาร์จหรือกระชากเครื่องยนต์ที่ชะลอตัวไปหรือดับไป ให้กระตุกพร้อมกัน และคาดว่าพอเครื่องติดแล้ว เงินนี้ก็จะหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจอีกหลายเท่า  ซึ่งเป็นเงินก้อนแรกเหมือนกับน้ำมันที่เป็นน้ำมันหัวเชื้อเทเข้าไปจุดติดให้มันสปาร์คให้ได้ ซึ่งทางพรรคก็ชี้แจงแล้วว่าจะเอาเงินมาจากไหน แล้วได้ประโยชน์อย่างไร แต่ก็ยังต้องมีคำอธิบายให้กับคนที่ยังไม่เข้าใจ ผมไม่โจมตีในเรื่องนี้”นายเกรียงไกร กล่าว