ไทย-ศรีลังกา ถกเข้ม FTA รอบ 4 เร่งสรุปผลปี 67

05 เม.ย. 2566 | 08:00 น.

 พาณิชย์ถกเข้มFTA ไทย-ศรีลังกา รอบที่ 4 เตรียมเดินหน้าเจรจารอบต่อไป มิ.ย.นี้ ตั้งเป้าสรุปผลปี 67 ชี้FTA จะช่วยให้การค้าการลงทุนสองฝ่ายขยายตัวมากขึ้น 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการประชุมเจรจาจัดทำความตกลง FTA ไทย-ศรีลังกา รอบที่ 4  ที่ประเทศศรีลังกา ว่า การเจรจามีความคืบหน้าอย่างมาก ทั้งเรื่องการลดและยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บกับสินค้าส่งออก รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานกฎระเบียบทางการค้าให้โปร่งใสและเข้าถึงง่าย และการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยให้การค้าและการลงทุนทั้งสองฝ่ายขยายตัวมากขึ้น โดยไทยและศรีลังกาตั้งเป้าจะสรุปผลการเจรจาให้ได้ในช่วงต้นปีหน้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

โดยการประชุมครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ซึ่งจะกำกับดูแลการเจรจาในภาพรวม และการประชุมคณะทำงาน 9 คณะ ได้แก่ การค้าสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การค้าบริการ การลงทุน พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การเยียวยาทางการค้า กฎหมาย และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยคณะทำงานหลายคณะได้ร่วมกันยกร่างความตกลงในส่วนที่รับผิดชอบใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งการเจรจาในรอบต่อไป กำหนดจัดขึ้นช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งน่าจะสามารถสรุปเนื้อหาความตกลงได้เพิ่มเติม

ไทย-ศรีลังกา ถกเข้ม FTA รอบ 4 เร่งสรุปผลปี 67

นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยยังได้เยี่ยมชมพอร์ตซิตี้ โคลัมโบ (Port City Colombo) ซึ่งรัฐบาลศรีลังกาได้ถมทะเล เพื่อสร้างพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษติดกับท่าเรือโคลัมโบ โดยมีแผนที่จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศในภาคการเงินให้เข้ามาประกอบธุรกิจ พร้อมทั้งจะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นอู่จอดเรือ (มารีน่า) แหล่งสันทนาการ และที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ของกรุงโคลัมโบ โดยจะให้สิทธิพิเศษทางภาษี สิทธิการถือครองที่ดิน และการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่ากับผู้เข้ามาทำงานและลงทุนในเขตเศรษฐกิจดังกล่าว ซึ่งโครงการนี้ กำหนดเป้าหมาย 20 ปี เพื่อพัฒนาให้สมบูรณ์ครบวงจร นอกจากนี้ ผู้บริหารพอร์ตซิตี้ โคลัมโบ แจ้งว่า ปัจจุบันมีนักธุรกิจหลายประเทศได้แสดงความสนใจที่จะลงทุนแล้ว อาทิ จีน สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ยูเออี และไทย

ทั้งนี้ ในปี 2565 การค้าระหว่างไทยและศรีลังกา มีมูลค่า 358.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา มูลค่า 271.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากศรีลังกา มูลค่า 87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ผ้าผืน อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเคมีภัณฑ์