FTA อาเซียน-จีน ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพACFTA10-12เม.ย.นี้

04 เม.ย. 2566 | 07:20 น.

ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพประชุม ACFTA สมัยพิเศษ 10-12 เมษายนนี้ ที่กรุงเทพฯ เดินหน้าเร่งเครื่องอัปเกรดความตกลงให้ทันสมัย ตั้งเป้าสรุปผลเจรจาภายในปี 2567

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานตามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) สมัยพิเศษ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 10-12 เมษายนนี้ กรุงเทพฯ โดยจะเป็นการประชุมแบบพบกันครั้งแรก หลังจากประชุมผ่านระบบออนไลน์ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเร่งปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2548 ให้ทันสถานการณ์และรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยตั้งเป้าหาข้อสรุปและเจรจาให้เสร็จภายในปี 2567

 

การประชุมครั้งนี้ จะประกอบด้วยการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าเพื่อกำกับดูแลภาพรวมการเจรจา และการประชุมคณะทำงาน 5 คณะ ได้แก่ การค้าสินค้า การลงทุน เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล และการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ไทยในฐานะผู้ประสานงานฝ่ายอาเซียนและเป็นตัวแทนของอาเซียน

FTA อาเซียน-จีน ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพACFTA10-12เม.ย.นี้

จะทำหน้าที่เป็นประธานร่วมการประชุมกับฝ่ายจีน โดยจะผลักดันให้การเจรจาคืบหน้ามากที่สุด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการหาข้อสรุปให้ได้ภายในปี 2567 ตามที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งการปรับปรุง FTA อาเซียน-จีน จะช่วยขยายการค้าระหว่างสมาชิก และเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

 ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน โดยในปี 2565 การค้าระหว่างอาเซียนกับจีน มีมูลค่า 715,156.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+6.70%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอาเซียนส่งออกไปจีน มูลค่า 288,920.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีนส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 426,235.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

FTA อาเซียน-จีน ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพACFTA10-12เม.ย.นี้

สำหรับการค้าระหว่างไทยกับจีน มีมูลค่า 105,404.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+1.53%) โดยไทยส่งออกไปจีน มูลค่า 34,389.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากจีน มูลค่า 71,014.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ผลไม้สด ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน