สรท.คงเป้าส่งออกไทยปี66ยังขยายตัว1-2%

04 เม.ย. 2566 | 05:37 น.

ปัจจัยเสี่ยงยังรุมส่งออกไทย ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอ เงินเฟ้อ ความไม่นิ่งของแบงก์ยุโรป-สหรัฐฯ ราคาพลังงาน  สรท.คงเป้าส่งออกปี66ขยายตัว1-2%

นาย ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)เปิดเผยว่า สรท. คงคาดการณ์การส่งออกรวมปี2566 ที่ 1-2% (ณ เดือนเมษายน 2566)ภายใต้ปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกไทย โดยเฉพา ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การแบ่งขั้วทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดสงครามทางการค้า เทคโนโลยี มาตรการกีดกันทางการค้า และ ต้นทุนราคาพลังงานโลกมีความผันผวนตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ

นาย ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และภาวะเงินเฟ้อ รวมไปถึง ปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปที่หากลุกลามอาจทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยสูงขึ้น สะท้อนความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้อุปสงค์การนำเข้าสินค้าปรับลดลงต่อเนื่อง

 

โดย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ PMI ในเดือน มี.ค. ที่หดตัวรุนแรง โดยเฉพาะกิจกรรมภาคการผลิตในกลุ่มยูโรโซน ขณะที่ PMI ของสหรัฐ หดตัวน้อยลงในเดือนมีนาคม (mom) เป็นผลจากปัญหาอุปทานค่อนข้างกระจุกตัว สินค้าคงคลังยังคงทรงตัวในระดับสูง

สรท.คงเป้าส่งออกไทยปี66ยังขยายตัว1-2%

อย่างไรก็ตามการส่งออกภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ของปี 2566 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 42,625.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.6%

และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 1,430,250 ล้านบาท หดตัว 3.2% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม - กุมภาพันธ์ หดตัว 1.4%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 48,388.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.3% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 1,647,855 ล้านบาท ขยายตัว 5.0% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2566 ขาดดุลเท่ากับ 5,763.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 217,605 ล้านบาท

สรท.คงเป้าส่งออกไทยปี66ยังขยายตัว1-2%

ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญถึงรัฐบาลโดยขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้า (FT) ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือนให้อยู่ระดับที่เหมาะสมเพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระด้านต้นทุนให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาระดับราคาสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภค ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนเกินกว่าประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย รวมถึงทบทวนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเพิ่ม Local Currency เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ส่งออกและนำเข้าของไทยและพิจารณามาตรการสนับสนุนเพื่ออุดหนุนการใช้พลังงานทางเลือก เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี ในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar), พลังงานหมุนเวียน (Renewable) และพลังงานชีวมวล (Biomass) เป็นต้น