ส่งออกไทยปี66   สินค้าเกษตร-อาหารคือความหวัง

02 เม.ย. 2566 | 02:08 น.

ความหวัง ส่งออกไทยปี66   สินค้าเกษตร-อาหาร ชี้อานิสงส์กระแสความมั่นคงทางอาหารและความต้องการสินค้าจำเป็นในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

ส่งออกก.พ.66 ทำได้มูลค่า 22,376.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 4.7% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 730,123.5 ล้านบาทติดลบ 5 เดือนติดต่อกัน เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอ เงินเฟ้อคู่ค้าพุ่ง ทำกำลังซื้อหด ส่งผลให้ไตรมาสแรกติดลบสูง ไตรมาส 2 ก็ยังลบอยู่ แต่จะฟื้นครึ่งปีหลัง มั่นใจเป้าทั้งปี 1-2% ทำได้  ส่งผลให้ 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ไทยส่งออกมูลค่า 42,625.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 4.6% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 1,430,250.2 ล้านบาท

ส่งออกไทยปี66   สินค้าเกษตร-อาหารคือความหวัง

อย่างไรก็ตาม สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  ประเมินว่าการส่งออกของไทยช่วงครึ่งปีแรกจะยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกปี 2566 ที่น่าจะหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวถึง 14.7% ตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ลดลง เนื่องจากประเทศคู่ค้าหลักยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ

โดยในช่วงครึ่งหลังของปีการส่งออกจะทยอยปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงตามแนวโน้มราคาพลังงาน และปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกที่ทยอยคลี่คลาย นอกจากนี้ แรงหนุนจากการยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์และการฟื้นตัวของกิจกรรมการผลิตของจีนที่จะส่งผ่านมายังภาคการส่งออกไทยมากขึ้น ตลอดจนการฟื้นตัวของภาคบริการและการท่องเที่ยวจะช่วยหนุนอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าในระยะต่อไป รวมทั้งปัจจัยฐานที่เริ่มต่ำลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดันที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป เป็นต้น

ส่งออกไทยปี66   สินค้าเกษตร-อาหารคือความหวัง

ทั้งนี้สนค. คาดว่ากลุ่มสินค้าที่จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันการส่งออกปี 2566 เป็นสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้ปัจจัยหนุนจากกระแสความมั่นคงทางอาหารและความต้องการสินค้าจำเป็นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว สินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งสินค้าที่ได้รับอานิสงส์จาก ข้อจำกัดด้านอุปทาน

การผลิตที่ผ่อนคลายลง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ตลอดจนสินค้าที่สอดรับกับ Megatrend ของโลก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจดูแลสุขภาพ

 โดยสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ เครื่องดื่ม ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไอศกรีม    

ส่งออกไทยปี66   สินค้าเกษตร-อาหารคือความหวัง

กลุ่มสินค้าที่ได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยว เช่น เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และเครื่องใช้สำหรับการเดินทาง

 กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด (แผงโซลาร์) (4) กลุ่มสินค้าเกี่ยวกับการแพทย์และสุขภาพ อาทิ เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ เลนส์แว่นสายตา ตามเทรนด์สุขภาพ และสังคมผู้สูงอายุ

ส่งออกไทยปี66   สินค้าเกษตร-อาหารคือความหวัง

 สินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหลังจากปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์คลี่คลายลง ทำให้ผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมรถยนต์สามารถเร่งการผลิตและการส่งออกตามคำสั่งซื้อได้ต่อเนื่อง