9พรรคการเมืองหนุนอุตสาหกรรมไทย-แก้กม.เพิ่มความคล่องตัว

28 มี.ค. 2566 | 07:35 น.

ส.อ.ท. จัดเวทีเสวนาให้ 9 พรรคการเมือง แสดงวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมดำเนินงานในรัฐบาลใหม่ ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ ลดคอรัปชั่นได้มากขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานการประชุมสามัญประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด เสริมสร้างพลังอุตสาหกรรมไทย สู่ประเทศไทยที่แข็งแกร่ง เพื่อให้สมาชิก ส.อ.ท. กว่า 15,000 รายทั่วประเทศ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะผ่านการจัดทำ FTI Poll ในหัวข้อ สิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการใน 90 วันแรก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

เพราะเมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องรับมือและปรับตัว โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้ ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ด้วยการดำเนินงานปี 2565-2567 ภายใต้ “ONE FTI” (ONE Vision, ONE Team, ONE Goal) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม (First Industries) ที่ประกอบด้วย 45 กลุ่มอุตสาหกรรม (11 คลัสเตอร์) 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด (5 ภาค/คลัสเตอร์จังหวัด) และอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries) ที่ประกอบด้วย 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curves) ไปพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก 

คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในภาคอุตสาหกรรม และสร้างความร่วมมือไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม ซึ่งถือเป็นวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ ส.อ.ท.

9พรรคการเมืองหนุนอุตสาหกรรมไทย-แก้กม.เพิ่มความคล่องตัว

“ส.อ.ท.ตั้งใจจัดกิจกรรมในรูปแบบนี้ เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกที่นอกจากจะช่วยโลกและประเทศให้รอดพ้นจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ต้องรับมือกับแรงกดดันจากทั้งลูกค้า คู่ค้าและผู้ลงทุนให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ ซึ่งวันนี้เราได้ทำการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยพิจารณาจากข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การเดินทางของผู้เข้าประชุม การใช้ไฟฟ้า พลังงานในการปรุงอาหาร และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากการคำนวณเบื้องต้นจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 122 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยหลังการจัดงานจะมีการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจริงและทำการชดเชยทั้งหมดอีกครั้ง ทั้งนี้ อบก. รับรองแล้วว่าการประชุมวันนี้ เป็นกลางทางคาร์บอนหรือเรียกว่าเป็น Carbon Neutral Event ”

9พรรคการเมืองหนุนอุตสาหกรรมไทย-แก้กม.เพิ่มความคล่องตัว

สำหรับกิจกรรมไฮไลท์คือ การเสวนาเรื่องวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ เข้าร่วม เพื่อให้ภาคเอกชนทราบแนวนโยบายและเข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐบาลใหม่ได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ การใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ และลดการปราบปรามคอรัปชั่นในประเทศ

 

โดยนายสุพันธุ์ มงคลสุรี รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า พรรคมุ่งแก้กฎหมาย 1,400 ฉบับ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน ด้วย พ.ร.บ. 1 ฉบับ ,การเข้าถึงแหล่งทุน ด้วยการเพิ่มวงเงิน บสย. - ตั้งกองทุน SMEs และสร้างแต้มต่ออุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC  

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคมุ่งเปลี่ยนเป้าหมายภาคอุตสาหกรรมไทย ให้กลายเป็นอุตสาหกรรม High tech ,High touch โดยนำเทคโนโลยีและดีไซน์ใหม่ ๆ มาใช้ในกระบวนการส่งออก พร้อมยกระดับปัจจัยการผลิต ทำให้สินค้ามีคุณค่ามากกว่าราคาที่ถูก

นายเกียรติ สิทธิ์อมร คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์

นายเกียรติ สิทธิ์อมร คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคมุ่งพัฒนาตลาดแรงงาน ให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบที่ล้าหลัง โดยไม่ขัดกับกติกาโลก ขณะที่พรรคอื่น ๆ ประกอบด้วย พรรคชาติไทยพัฒนา ,พรรคชาติพัฒนากล้า ,พรรคพลังประชารัฐ ,พรรคเพื่อไทย ,พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีมุมมองใกล้เคียงกัน โดยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาต้นทุนพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง มุ่งสู่พลังงานสะอาด การลดก๊าซเรือนกระจก การปรับเปลี่ยน KPI SMEs การแก้ไขมาตรการกีดกันทางการค้า และการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

ส่วนการแก้ปัญหาคอรัปชั่น ทุกพรรคการเมืองต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องให้ประชาชนมาส่วนร่วมในการประมูลงานตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเพื่อร่วมตรวจสอบความถูกต้อง รวมถึงหน่วยงานรัฐเองต้องมีความเข้มงวดเอาจริงเอาจังในการตรวจสอบและลงโทษผู้ที่ทำผิด รวมถึงการแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานลดชั้นตอนหรือช่องว่างในการทุจริตซึ่งการปฏิรูปกฎหมายถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข