บอร์ดรฟท. เบรกประมูล PPP เดินรถขนส่งสินค้า สายหนองคาย-แหลมฉบัง 2.5 หมื่นล้าน

28 มี.ค. 2566 | 07:48 น.

“บอร์ด รฟท.” สั่งทบทวนประมูล PPP เดินรถขนส่งสินค้า สายหนองคาย-แหลมฉบัง 2.5 หมื่นล้านบาท ดึงเอกชนร่วมทุน แนะศึกษาระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าควบรถไฟ เทียบเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก เล็งชงบอร์ดรฟท.เคาะเม.ย.นี้

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้า โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถขนส่งสินค้า เส้นทางหนองคาย-แหลมฉบัง เบื้องต้นที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ได้สั่งการให้ รฟท. กลับไปทบทวนรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถขนส่งสินค้า เส้นทางหนองคาย-แหลมฉบัง ระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าการลงทุน 25,925 ล้านบาท โดยดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

 ขณะเดียวกันบอร์ด รฟท. มอบหมายให้ รฟท.โดยบริษัทที่ปรึกษาฯ ไปดำเนินการพิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับลงทุนระบบการจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับรถไฟ (Electrification) ซึ่งจะต้องติดตั้งเหนือหัวรถจักร เปรียบเทียบกับเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้คุ้มค่าสูงสุด โดยให้นำกลับมาเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดพิจารณาอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไป หรือในเดือน เม.ย. 2566

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า ด้านกรอบระยะเวลาของการดำเนินโครงการนั้น คาดว่า จะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติรูปแบบการลงทุนในปี 2567 ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชน และเสนอ ครม. อนุมัติโครงการฯ ในปี 2568 หลังจากนั้นจะดำเนินการออกแบบและติดตั้งระบบ Electrification และจัดหาขบวนรถ โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในปี 2571

สำหรับการลงทุนโครงการฯ จะเป็นการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost แบ่งเป็น 1.การลงทุนระบบ Electrification ดำเนินการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบ โดยเอกชน, รฟท. ชดเชยค่าติดตั้งระบบ Electrification จากเงินผลประโยชน์ตอบแทนจากเอกชนในการใช้ระบบ Electrification มูลค่าการลงทุนประมาณ 20,890 ล้านบาท

2.การลงทุนขบวนรถสินค้า และให้บริการเดินรถ ลงทุนโดยเอกชน การลงทุนระยะแรก 5,035 ล้านบาท ประกอบด้วย รถจักร 14 คัน, รถบรรทุกสินค้า 420 คัน, โรงซ่อมบำรุง และระบบจัดการขนส่งสินค้า

 3.การลงทุนเพิ่มโดยเอกชน ในระยะดำเนินการให้บริการประมาณ 14,990 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการลงทุนจัดซื้อรถจักร และรถบรรทุกสินค้าให้เพียงพอกับปริมาณสินค้า ตลอดระยะเวลาร่วมทุน 50 ปี โดยคาดการณ์ว่า จะใช้รถจักรอีก 48 คัน และรถบรรทุกสินค้า 1,620 คัน

 นอกจากนี้การเดินรถขนส่งสินค้าในเส้นทางหนองคาย-แหลมฉบังนั้น มีจุดเริ่มต้นจากหนองคาย เดินขบวนรถไปยังเส้นทางแก่งคอย-คลองสิบเก้า และเข้าสู่แหลมฉบัง ระยะทางรวมประมาณ 600 กม. ซึ่งการดำเนินการโครงการนี้ เนื่องจากในปัจจุบันยังมีความจุทาง (Slot) คงเหลืออยู่ นอกเหนือจากการให้บริการของ รฟท.

ที่ใช้เดินรถได้ตามปกติ ประกอบกับมีปริมาณสินค้าที่เพียงพอต่อการขนส่ง อีกทั้งรองรับแผนการเดินรถเพิ่มของ รฟท. และเอกชนควบคู่กันไป รวมถึงรองรับการขนส่งสินค้าเพิ่มเติมในเส้นทางไทย-สปป.ลาว-จีนด้วย