ดีเอสไอ แฉ 25 วิธี โจรหลอกลงทุนแชร์ลูกโซ่

25 มี.ค. 2566 | 23:45 น.

กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เปิดเผยผลศึกษาวิจัย พบ 25 วิธี โจรออนไลน์ หลอกลงทุนแชร์ลูกโซ่ อ่านไว้ให้รู้เท่าทันโจรออนไลน์

การรู้เท่าทันกลลวงมิจฉาชีพ หรือโจรออนไลน์ ถือเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันความเสียหาย ซึ่งการศึกษา วิจัย จะช่วยให้สามารถรู้ข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์ และวางแผนเพื่อป้องกันและ แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จึงได้ให้การสนับสนุนกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำการวิจัย และถอดรหัส 25 กลโกง แชร์ลูกโซ่ พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบ

 

25 วิธี โจรออนไลน์หลอกลงทุน แชร์ลูกโซ่

  1. หลอกให้เหยื่อเกิดความอยากได้ โดยการใช้ผลตอบแทนที่สูงเกินความเป็นจริง
  2. กลโกงที่ 2     โน้มน้าวให้รู้สึกว่า ชีวิตนี้โคตรโชคดีเหลือเกินที่ได้มาพบเจอบริษัทหรือกิจการนั้นๆ
  3. สร้างภาพความรวย โชว์การใช้ชีวิตหรูหรา (กินหรูอยู่สบาย) ใช้รถหรูบ้านหรู โชว์เงินสดจำนวนมากเป็นปึกๆ
  4. ใช้การสร้างภาพให้เห็นว่า บริษัทหรือกิจการนั้นๆ มีความน่าเชื่อถือ เป็นอย่างมาก ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในเวลาอันรวดเร็ว แบบก้าวกระโดดหรือแบบฉับพลัน
  5. ทำให้รู้สึก หรือเข้าใจว่า เป็นการลงทุนกับบริษัทหรือกิจการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก 
  6. เชิญชวนให้เข้าร่วมงานสัมมนา แสดงว่ามีแผนธุรกิจ ที่สามารถเติบโตอย่างรวดเร็วได้กำไรงาม
  7. สร้างภาพว่าเป็นกิจการที่ช่วยเหลือสังคม ได้รับรางวัลมากมาย
  8. รับประกัน หรือการันตี (guarantee) ว่าเมื่อลงทุนแล้วจะได้รับผลตอบแทน 100% ไม่มีการขาดทุนเด็ดขาด
  9.  เชิญชวนว่าเหมาะกับคนที่ชอบทำงานสบาย งานง่ายๆ ไม่ลำบาก ไม่ยาก ทำงานได้โดยไม่กระทบต่องานประจำที่ทำอยู่ ลงทุนน้อย ได้รับผลตอบแทนสูง และได้รับแน่นอน ไม่มีความเสี่ยงใดๆทั้งสิ้น
  10. โฆษณาว่า เป็นการทำธุรกิจแนวใหม่ หรือเป็นการลงทุนแบบใหม่      (Start Up) หรือลงทุนในสินทรัพย์/หลักทรัพย์ตัวใหม่ๆ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความทันสมัย มีแนวโน้มหรือเทรน (Trend) มาแรง ลงทุนแล้วจะได้ผลตอบแทนสูง

แชร์ลูกโซ่

  1. แสดงให้เราเห็นว่า เมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกกับบริษัทหรือกิจการของเขาแล้วจะทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้นจากเดิม
  2. จูงใจด้วยการจ่ายผลตอบแทนตามที่โฆษณาเชิญชวน ในอัตราที่สูงโดยจ่ายแค่ครั้งแรกๆ ก่อนที่จะหอบเงินเหยื่อหนีหายไป
  3. อ้างว่าต้องใช้สกุลเงินดิจิทัลในการลงทุน และต้องเปิดกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ในการลงทุน สุดท้ายก็เชิดหนี
  4. แอบอ้างว่า มีการจัดตั้งบริษัทหรือกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมาย 
  5.  หลอกให้โอนเงินไปลงทุน แล้วจูงใจแจ้งเราว่ารอรับผลตอบแทนอย่างเดียวไม่มีขาดทุน
  6. ให้ค่าแนะนำเชิญชวนบุคคลอื่นมาเข้าร่วมในลักษณะแม่ทีมลูกทีม       
  7. เชิญชวนเราไปในพื้นที่ส่วนตัว หรือในโซเชียลมีเดีย (Social Media)ส่วนตัว เพื่อชักจูงให้เราเกิดความอยากลงทุน อยากได้รับผลตอบแทนสูงๆ
  8. มีการอุปโลกน์ตัวอย่างคนที่ได้รับผลตอบแทน ให้เห็นว่าได้รับผลตอบแทนสูงจริงเพื่อจูงใจ
  9. เปิดให้ทุกคนเข้ามาลงทุนได้ โดยไม่มีข้อจำกัด
  10. แอบอ้างว่า มีการจดทะเบียนหรือร่วมลงทุน หรือนำเงินไปลงทุนกับธุรกิจ ที่อยู่ในต่างประเทศ   
  11. แสดงให้เราเห็นว่ามีบริษัท หรือกิจการในเครืออีกหลายแห่ง 
  12. มีวิธีการทำให้ตรวจสอบทางการเงินไม่ได้ ทำให้เข้าใจว่าสาเหตุที่คนอื่นๆที่เข้ามาลงทุนร่ำรวยมากขึ้นเพราะเกิดจากการเข้ามาลงทุนนี้
  13. อ้างว่าจะมีการนำเงินสด(เงินบาท)ของเรา ไปลงทุนหรือแลกเปลี่ยนเป็นหน่วยลงทุนที่บริษัทหรือกิจการกำหนดขึ้นมาเอง (เอาเงินจริงไปแลกเป็นเงินสมมุติที่ทางเขากำหนดขึ้นมา)
  14. สร้างโปรแกรมสำเร็จรูปซึ่งเหมือนจริงทุกประการ มาเป็นหน้าจอแสดงผลหรือรายงานผลการลงทุน/ผลตอบแทน 
  15. ให้ไปชักชวนคนใกล้ชิด หรือคนสนิทของเรา หรือในทางกลับกันอาจเป็นคนใกล้ชิดหรือคนสนิทของเรามาชวนเราให้เข้ามาลงทุนหรือให้เข้ามาติดกับดัก