"รฟม".ลุยศึกษา PPP รถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาล 4.9 หมื่นล้าน

15 มี.ค. 2566 | 06:55 น.

“รฟม.” เร่งศึกษา รถ ไฟฟ้าสายสีนํ้าตาล 4.9 หมื่นล้านบาท เตรียมชงบอร์ด PPP ไฟเขียวภายในปี 67 เล็งเปิดประมูลปี 68 ดึงเอกชนร่วมทุน เร่งตอกเสาเข็มปี 69 คาดเปิดบริการปี 72

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีแผนลงทุนโครงการรถไฟฟ้า เชื่อมโครงข่ายการเดินทางอย่างต่อเนื่องล่าสุดนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบรายละเอียดการวิเคราะห์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทางรวม 22.1 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าลงทุนรวม 49,865 ล้านบาท

ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.PPP) และหลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณา เพื่อนำโครงการฯเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เห็นชอบ ภายในปี 2567

ทั้งนี้หากโครงการผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ PPP หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลเพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในปี 2568 และดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2569 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า ด้านการเวนคืนที่ดินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาล พบว่ามีค่าเวนคืนที่ดินค่อนข้างสูง เพราะเป็นพื้นที่เวนคืนในเขตเมือง โดยรฟม.ได้มีการกำหนดค่าเวนคืนที่ดินเป็นไปตามราคาที่ดินในปัจจุบัน ทำให้มูลค่าที่ดินค่อนข้างสูง ส่วนพื้นที่เวนคืนที่ดินมีไม่เยอะ เนื่อง จากพื้นที่ที่เวนคืนส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณตำแหน่งทางขึ้น-ลงแต่ละสถานี

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ทั้งนี้รูปแบบการร่วมลงทุนของโครงการฯ โดยรฟม.เป็นผู้ดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและก่อสร้างงานโยธา ส่วนเอกชนผู้ร่วมลงทุนดำเนินการออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบการทำงานของอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้าการให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา รวมไปถึงระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาสัญญาสัมปทานโครงการ 30 ปี

ส่วนผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางเศรษฐกิจของโครงการ (EIRR) 20.82%, NPV 50,656.69 ล้านบาท, B/C Ratio 2.45 เท่า คาดการณ์ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาล ช่วงแคราย-ลําสาลี (บึงกุ่ม) โดยใช้อัตราค่าโดยสารแบบตามระยะทาง อัตราค่าแรกเข้า 14.0 บาท

ค่าโดยสารตามระยะทาง 2.0 บาทต่อกิโลเมตร และมีเพดานสูงสุด 42 บาท (ราคา ณ ปี พ.ศ. 2565) ประเมินรายได้เชิงพาณิชย์ที่ 5% ต่อปี (รายได้เชิงพาณิชย์คิดเป็นร้อยละ 5 ของรายได้จากการเดินรถ) คาดการณ์รายได้รวมตลอด 30 ปี ที่ 156,748 ล้านบาท เป็นรายได้จากค่าโดยสาร 149,823 ล้านบาท รายได้เชิงพาณิชย์ 7,464 ล้านบาท

"รฟม".ลุยศึกษา PPP รถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาล 4.9 หมื่นล้าน

  นอกจากนี้โครงการฯได้คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร ปี 2571 (ปีเปิดให้บริการ) ที่ 112,439 คน-เที่ยว/วัน รายได้จากค่าโดยสาร 1,237 ล้านบาท รายได้เชิงพาณิชย์ 62 ล้านบาท รวมรายได้ 1,299 ล้านบาท, ปี 2576 ปริมาณผู้โดยสารที่ 208,961 คน- เที่ยว/วัน

รายได้จากค่าโดยสาร 2,629 ล้านบาท รายได้เชิงพาณิชย์ 131 ล้านบาท รวมรายได้ 2,760 ล้านบาท, ปี 2581 ปริมาณผู้โดยสารที่ 249,393 คน-เที่ยว/วัน) รายได้จากค่าโดยสาร 3,609 ล้านบาท รายได้เชิงพาณิชย์ 180 บ้านบาท รวมรายได้ 3,789 ล้านบาท

ขณะที่ในปี 2586 ปริมาณผู้โดยสารที่ 284,742 คน-เที่ยว/วัน รายได้จากค่าโดยสาร 4,668 ล้านบาท รายได้เชิงพาณิชย์ 233 ล้านบาท รวมรายได้ 4,902 ล้านบาท, ปี 2591 ปริมาณผู้โดยสารที่ 320,105 คน-เที่ยว/วัน รายได้จากค่าโดยสาร 5,933 ล้านบาท รายได้เชิงพาณิชย์ 297 ล้านบาท รวมรายได้ 6,230 ล้านบาท

ส่วนปี 2596 ปริมาณผู้โดยสารที่ 355,457 คน-เที่ยว/วัน รายได้จากค่าโดยสาร 7,473 ล้านบาท รายได้เชิงพาณิชย์ 374 ล้านบาท รวมรายได้ 7,846 ล้านบาท, ปี 2600 ปริมาณผู้โดยสารที่ 383,731 คน-เที่ยว/วัน รายได้จากค่าโดยสาร 8,899 ล้านบาท รายได้เชิงพาณิชย์ 445 ล้านบาท รวมรายได้ 156,748 ล้านบาท

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาลฯ ระยะทางรวม 22.1 กิโลเมตร (กม.) เป็นระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) มีสถานีทั้งสิ้น 20 สถานี โดยเป็นทางยกระดับตลอดเส้นทางจะเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้า 7 สาย มีจุดเริ่มต้นบริเวณแยกแคราย ไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน จนถึงแยกบางเขน แล้วข้ามถนนวิภาวดีรังสิต

โดยลอดใต้รถไฟฟ้าสายสีแดง และทางยกระดับอุตราภิมุขจนถึงแยก เกษตร ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ไปจนถึงแยกนวมินทร์แล้วจึงเลี้ยวลงไปทางทิศใต้ตามแนวถนนนวมินทร์จนถึงแยกสวนสน โดยในช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ จะมีการใช้พื้นที่เกาะกลางร่วมกันระหว่างระบบทางพิเศษ (ทางด่วน) ที่จะก่อสร้าง โดยใช้เสาตอม่อเดิม