SEA สภาพัฒน์รื้อสร้างใหม่ แผนแม่บทพัฒนา ‘สงขลา-ปัตตานี’

01 มี.ค. 2566 | 08:42 น.

สภาพัฒน์ฯจับมือม.อ.เปิดเวทีฟังความ 4 ภาคี เริ่มกระบวนการ SEA ประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ นับหนึ่งใหม่ปั้นแผนแม่บทพัฒนาสงขลา-ปัตตานี ที่ทุกฝ่ายยอมรับ

สารพัดโครงการใหญ่ภาคใต้ในนามของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นแลนด์บริดจ์เก่า เพื่อรองรับการขนส่งนํ้ามันข้ามคาบสมุทรและแหล่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา หรือโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ภายใต้โครงการเมืองต้นแบบที่ 4 เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่ศอ.บต.สนับสนุน แต่พอประกาศจะเริ่มเดินหน้า ก็เจอกระแสต่อต้านจากมวลชนจนไปต่อไม่ได้ ขณะในพื้นที่เสียงแตก ฟากนักธุรกิจหอ การค้าต้องการให้เดินหน้า ขณะภาคประชาสังคมชุมชนท้องถิ่นต้าน หวั่นกระทบวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และว่าตั้งธง จะทำโครงการก่อนฟังความเห็นชาวบ้าน

13 ก.พ. 2566 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.หรือสภาพัฒน์) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)ที่ปรึกษาโครงการ จัดประชุม ปฐมนิเทศ โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี

SEA สภาพัฒน์รื้อสร้างใหม่ แผนแม่บทพัฒนา ‘สงขลา-ปัตตานี’

SEA สภาพัฒน์รื้อสร้างใหม่ แผนแม่บทพัฒนา ‘สงขลา-ปัตตานี’

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า โครงการนี้พยายามนำกระบวนการ SEA มาร่วมกับการทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ ภายในกรอบเวลา 18 เดือนจากนี้ ซึ่งอยากเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่จากหลายๆ ภาคส่วน ที่จะเข้ามาร่วมให้ข้อคิดเห็นในทุกขั้นตอนของงาน เช่น ทุนในพื้นที่ แนวทางการพัฒนา รายละเอียดแผนงานโครงการ ข้อห่วงใยของประชาชนเป็นอย่างไร ซึ่งต้องมีการพูดคุยกันของประชาชนในพื้นที่ในทุกๆ ขั้นตอน

“สิ่งที่อยากจะเห็นจริงๆ คือทุกคนเข้ามาร่วมพูดคุยกัน หาจุดร่วมในการพัฒนาพื้นที่ 2 จังหวัดของเราเอง จะไปด้วยกันอย่างไร เพื่อให้การทำงานเดินไปด้วยกัน เพื่อให้มีประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ความเป็นอยู่ประชาชนดีขึ้น มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มีสังคมที่อบอุ่นและยั่งยืนในเชิงทรัพยากร ซึ่งจากนี้ไปกระบวนการพูดคุยจะเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องเข้ามาร่วมกัน”

SEA สภาพัฒน์รื้อสร้างใหม่ แผนแม่บทพัฒนา ‘สงขลา-ปัตตานี’

SEA สภาพัฒน์รื้อสร้างใหม่ แผนแม่บทพัฒนา ‘สงขลา-ปัตตานี’

เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวอีกว่า SEA หรือการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ เป็นกระบวนการที่จะได้มาซึ่งการพัฒนาที่ทุกคนเห็นด้วยกัน และเป็นการพัฒนาที่ สอดรับกับศักยภาพพื้นที่ และก็มีการดูแลเรื่องผลกระทบที่รอบด้าน คือต้องมีแผนการพัฒนาอะไรขึ้นมา แล้วเอากระบวนการนี้เข้าไปจับ เพื่อดูว่าในการพัฒนาพื้นที่หนึ่ง ๆ ซึ่งมีหลายโครงการพัฒนานั้น โครงการแต่ละอันมีผลกระทบอะไรอย่างไร พื้นที่รองรับได้แค่ไหน และจะแก้ปัญหาผลกระทบพวกนี้อย่างไร ซึ่งต่างจาก EIA ที่จะดู เฉพาะแต่ละโครงการว่า ผลกระทบจากโครงการนั้นเป็นอย่างไร แต่ถ้าอยากรู้ว่าการมีโครงการหลายๆ โครงการเข้าไป จะเกิดผลกระทบอย่างไรกับพื้นที่ทั้งในเชิงบวกเชิงลบ อันนี้ต้องทำ SEA

“เราไม่เคยชี้นำใคร เวลาเราทำงานเราจะดูตัวศักยภาพพื้นที่ แล้วหาว่าจะทำอะไร จะพัฒนาอะไร ซึ่งพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต้องเป็นคนเสนอความต้องการ แล้วเรามาช่วยกันดูว่ามีอะไรต้องปรับปรุงบ้าง แล้วเดินหน้าไปด้วยกัน”

SEA สภาพัฒน์รื้อสร้างใหม่ แผนแม่บทพัฒนา ‘สงขลา-ปัตตานี’

นายดนุชา กล่าวด้วยว่า โครง การเทพาเคยทำ SEA ด้วย แต่นั่นจะเป็นเรื่องโรงไฟฟ้า แต่ถ้าจะดูว่า SEA ที่ทำในลักษณะเป็นแผนพัฒนาพื้นที่ อันนี้เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ SEA เข้ามาจับ ซึ่งเป็นกระบวนการที่สภาพัฒน์พยายามผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ ที่จะทำแผนพัฒนาพื้นที่ ควรต้องเอากระบวนการนี้ไปใช้ เพราะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ และการทำงานสามารถหาข้อยุติและจุดร่วมได้ตั้งแต่ต้นว่าเราจะเดินไปอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่

“ขณะนี้เรากำลังยกร่างระเบียบฯอยู่ จากนั้นจะนำเข้าคณะกรรมการการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อ เสนอเข้าครม.ประกาศ ให้หน่วย งานต่างๆ ถ้าต้องการใช้จะได้รู้ว่ามีขั้นตอนต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง”

SEA สภาพัฒน์รื้อสร้างใหม่ แผนแม่บทพัฒนา ‘สงขลา-ปัตตานี’

การทำ SEA ครั้งนี้ที่ใช้งบประมาณกว่า 28 ล้านบาทนั้น คาดหวังว่าจะได้แผนการพัฒนาพื้นที่จังหวัดสงขลาและปัตตานี ที่ทุกคนเห็นชอบร่วมกัน เป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่ ที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน ส่วนการเดินหน้าพัฒนาตามแผน ต้องอาศัยหน่วยงานในพื้นที่ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่จะช่วยกันดูให้เกิดการพัฒนาเป็นไปตามแผน แม้ว่าบางอย่างอาจเร็ว บางอย่างอาจช้า เพราะงบมีจำกัด แต่ทุกอย่างต้องเดินหน้าไปตาม แผนที่ร่วมกันทำไว้

ด้าน รศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ขั้นตอนใน 18 เดือนจากนี้ ประกอบด้วย 1. หาศักยภาพของทุนในพื้นที่มีอะไรบ้าง 2. จากทุนที่มีอยู่ เราอยากไปถึงที่ไหน คือวางภาพอนาคตการพัฒนาพื้นที่สงขลา-ปัตตานี จะเป็นอย่างไร 3. เพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น จะมีทิศทางหรือแนวทางควรทำอะไร ควรต้องมีแผนงานหรือโครงการอะไรที่ต้องทำบ้าง และ 4. ประเมินผลกระทบของแผนงานที่วางไว้อีกครั้ง ว่าถ้าทำจริงๆ แล้วจะไปสู่จุดหมายภาพอนาคตที่คาดหวังหรือไม่

SEA สภาพัฒน์รื้อสร้างใหม่ แผนแม่บทพัฒนา ‘สงขลา-ปัตตานี’

“ครั้งนี้เราทำ SEA ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ต้องใช้สุนทรียสนทนา ไปพูดคุยทำความเข้าใจ หากสามารถใช้เครื่องมือนี้ไปทำให้ความขัดแย้งลดลงได้ แล้วทำให้พี่น้องกลับมารวมพลังกันในการพัฒนาพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะความขัดแย้งในเชิงของการพัฒนา ความขัดแย้งในเรื่องของชายแดนใต้ ที่เป็นวิกฤตความรุนแรงอยู่ เราก็คาดหวังว่า มันจะทำให้ความขัดแย้งเหล่านั้นค่อยๆ ดีขึ้น คนที่เห็นต่างได้ใช้เวทีนี้กลับมาพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ เห็นสิ่งที่ไปด้วยกันและมาร่วมกันเดินเพื่อจะไปจุดหมายด้วยกัน” ผศ.ดร.พงค์เทพ กล่าวยํ้า 

 

สมชาย สามารถ/รายงาน
หน้า 10  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,866 วันที่ 2-4 มีนาคม พ.ศ.2566