นักลงทุนจีนลงพื้นที่ระนอง ฟื้นประตูสู่อันดามัน 

23 ก.พ. 2566 | 04:55 น.

ตัวแทนมณฑลยูนนานยกคณะเยือนไทยทันที หลังเปิดประเทศ หารือพัฒนาการเชื่อมต่อไทย-ลาว-จีน พร้อมขอลงพื้นที่ “ระนอง” ประตูทางทะเลฝั่งตะวันตก ศูนย์กลางยุทธศาสตร์ SEC-แลนด์บริดจ์

ระนองยังอยู่ในความสนใจของจีน หลังเปิดประเทศจากโควิด-19 คณะผู้แทนหน่วยงานด้านขนส่งและการต่างประเทศเยือนไทย ติดตามด้านการเชื่อมต่อรถไฟจีน-ลาว-ไทย พร้อมยกทีมดูงานระนอง ประตูทางทะเลด้านตะวันตก สานต่อความ
ร่วมมือระหว่างกัน จากที่เคยลงพื้นที่ผนึกความร่วมมือคึกคักก่อนโควิด-19 ระบาด

วันที่ 17 ก.พ. 2566 นายหวัง เว่ย (Mr.Wang Wei) รองอธิบดีสำนักงานการต่างประเทศ มณฑลยูนนาน และนายหม่า เต่อฟาง (Mr.Ma Defang) รองอธิบดีกรมการขนส่งและคมนาคม มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน นำคณะรวม 12 คน ลงพื้นที่เยือนจังหวัดระนอง โดยมี นายราชัน มีน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง พร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยงานราชการ และผู้บริหารสถาบันภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ และร่วมประชุมหารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเมืองยูนนาน-จังหวัดระนอง

นักลงทุนจีนลงพื้นที่ระนอง ฟื้นประตูสู่อันดามัน 

นักลงทุนจีนลงพื้นที่ระนอง ฟื้นประตูสู่อันดามัน 

จังหวัดระนองได้รับแจ้งจากสถานกงสุลใหญ่ว่า คณะผู้แทนหน่วยงานด้านการขนส่งและการต่างประเทศ จากมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน มีกำหนดการเยือนประเทศ ไทย ในระหว่างวันที่ 15-19 กุมภาพันธ์ 2566 และลงพื้นที่มาศึกษาดูงาน ณ จังหวัดระนอง ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการเชื่อมต่อไทย-ลาว-จีน

ในการพบปะหารือ นายราชัน มีน้อย รองผู้ว่าฯระนอง ให้ข้อมูลว่า จังหวัดระนองเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลด้านทิศตะวันตก ในอนาคตอันใกล้จะมีการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor-SEC) โดยจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งมายังระนอง ให้เป็นประตูทางทะเลด้านตะวันตก เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้กับฐานผลิตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศรอบอ่าวเบงกอล (บิมสเทค)

นักลงทุนจีนลงพื้นที่ระนอง ฟื้นประตูสู่อันดามัน 

นักลงทุนจีนลงพื้นที่ระนอง ฟื้นประตูสู่อันดามัน 

และโครงการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ โดยพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งหลากรูปแบบ ทั้งโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระบบราง รถไฟทางคู่ ระบบท่อ ระหว่างชุมพร-ระนอง เป็นทางเลือกในการขนถ่ายลำเลียงสินค้าระหว่างมหาสมุทร ซึ่งจะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเสรี ดึงดูดนักลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่า และเป็นทางเลือกในการขนส่งนํ้ามันดิบทางเรือ

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดระนอง มุ่งเน้นการพัฒนาด้านการขนส่ง โดยดูแลให้เกิดผลกระทบด้านทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ซึ่งจังหวัดระนองมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การบริการสุขภาพ นํ้าแร่ อาหารทะเล การลงทุนและการเกษตร มีความยินดีอย่างยิ่งที่คณะผู้บริหารมณฑลยูนนานได้เดินทางมาร่วมหารือเเลกเปลี่ยนข้อมูล เเละหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะนำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ที่เหมาะสมในการดำเนินความสัมพันธ์กันต่อไป

นักลงทุนจีนลงพื้นที่ระนอง ฟื้นประตูสู่อันดามัน 

ด้านนายหวัง เว่ย (Mr.Wang Wei) กล่าวว่า ทางเมืองยูนนานนั้น แม้ไม่มีทางออกทางทะเล แต่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความสวยงาม การที่ได้เดินทางพร้อมคณะมาร่วมหารือกันครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดี และได้ขอบคุณรองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ทั้งส่วนราชการและเอกชน ที่ร่วมเเลกเปลี่ยน รวมถึงนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ฝ่ายจีนได้รับทราบ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ในระยะยาว เเละเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อเสนอให้ขยายความร่วมมือและดำเนินกิจกรรมให้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ช่วงก่อนการระบาดเชื้อโควิด-19 จังหวัดระนองอยู่ในความสนใจของมหาอำนาจทั่วโลก จากที่เป็นประตูการค้าทางทะเลด้านตะวันตกตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) หรือแนวแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งข้ามทะเลอ่าวไทยและอันดามัน กระแสการขุด “คลองไทย” รวมทั้งอยู่ใกล้แนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว-ไทย ที่มีแผนลงไปต่อกับมาเลเซียจนถึงสิงคโปร์ในอนาคต

นักลงทุนจีนลงพื้นที่ระนอง ฟื้นประตูสู่อันดามัน 

ทำให้มีตัวแทนชาติต่างๆ ลงพื้นที่ระนองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีน ที่นอกจากสนใจหาโอกาสการค้าการลงทุนแล้ว ยังมีความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างม. ราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาระนอง กับวิทยาลัยโปลีเทคนิค ซานเหมินเซียะ (Sanmenxia Polytechnic) มณฑลเหอหนาน และวิทยาลัยหวงเหอ (Huang He)

หลังโควิด-19 คลี่คลาย จีนเดินหน้าผนึกความสัมพันธ์กับไทยทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดระนอง ประตูสู่ทะเล อันดามันในพรมแดนด้านตะวันตกของไทย ส่งสัญญาณว่า ระนองยังเป็นเป้าความสนใจของนานาชาติ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากโปรเจ็กต์ยักษ์ของรัฐบาล 

 

บุญเลื่อน พรหมประทานกุล/รายงาน


หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,864 วันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566