พรรคการเมือง "ประชันนโยบาย" ซื้อใจเอสเอ็มอี

18 ก.พ. 2566 | 00:57 น.

พรรคการเมืองเห็นพ้องต้องทุ่มเทสร้างเอสเอ็มอีไทยให้เข้มแข็ง เฉพาะหน้าต้องฟื้นฟูจากพิษโควิด-19 ทั้งแก้หนี้ เติมทุน ปรับรับยุคดิจิทัล ดันแผนแม่บทใหม่ขับเคลื่อนไปทั้งแผง

สื่อเครือเนชั่น จัดสัมมนา “อนาคตประเทศไทย : SME จะไปทางไหน?” เปิดเวทีใหญ่ให้ ตัวแทนพรรคการเมือง ร่วมแสดงความคิดเห็นและนำเสนอนโยบาย การส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีไทย ภายใต้หัวข้อ”นโยบายพรรคการเมืองทำอย่างไร? ให้โดนใจเอสเอ็มอี”

ซึ่งทุกพรรคชี้ว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย จากที่มีจำนวนถึงกว่า 3 ล้านรายกระจายทุกพื้นที่ของประเทศ ซึ่งต้องมีมาตรการดูแลฟื้นฟูและฟูมฟักเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจของประเทศ

ชทพ.เปลี่ยนวิธี “บริหาร”
 นายสันติ กีระนันท์ กรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา(ชพท.) กล่าวว่า ปัญหาเอสเอ็มอี แต่ละประเภทไม่เหมือนกัน จะแก้ปัญหาต้องมีนโยบายที่ดี คือทำได้จริง แก้ปัญหาตรงจุด และไม่สร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้นต่อไป โดยอาศัย 4 ภาค คือภาคการเงิน ภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ต้องร่วมมือกัน

บางเรื่องสามารถที่จะทำได้ทันทีโดยไม่ต้องมีกฎหมายใหม่ แค่เปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการ เช่น ภาคการเงิน เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนยาก รัฐต้องมาช่วยเรื่องนโยบายภาษี  ขณะที่ภาคราชการมีกฎหมายยุ่งวุ่นวายไปหมด กระทรวง ทบวง กรม แย่งกันทำเรื่องเอสเอ็มอี ซึ่งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) อาจต้องเปลี่ยนบทบาทใหม่

ปชป.ตั้งกองทุน 5 แสนล.
 ด้านดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า 3 ปีมานี้เอสเอ็มอีมีปัญหาเรื่องเงินทุน ที่เวลานี้กำลังวิกฤต ถูกเทกโอเวอร์  ซึ่งต้องแก้ที่เงินทุน ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามจะแก้ โดยแบงก์ชาติออกซอฟท์โลน โดยออกเป็นพระราชบัญญัติ แต่ช่วยได้ไม่กี่แสนล้านบาท แม้กระทั่งบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็มีเงินแค่หมื่นล้านบาท

ทางแก้ของปชป.คือ เสนอกองทุนวายุภักษ์ 5 แสนล้านบาท ให้กองทุนฯเข้าถือหุ้นกับเอสเอ็มอีไม่เกิน 49% แปลงหนี้่เป็นทุนให้สามารถกู้เงินธนาคารมาฟื้นฟูกิจการได้ และเจ้าของสามารถซื้อหุ้นคืนใน 10 ปี จากที่ประเทศมีเงินออมมหาศาล ควรนำสินทรัพย์ของรัฐมาทำประโยชน์ ป้องกันแบงก์ไม่ให้มีปัญหาเอ็นพีแอล ขณะที่เอสเอ็มอีมีเงินใหม่มาเติม ไม่ใช่การพักหนี้โดยไม่มีการตรวจสอบประวัติ หรือเลิกตรวจเครดิต มีแต่รอวันแบงก์มายึด และแบงก์ก็อ่อนแอลง จึงต้องแก้ด้วยการเติมทุนใหม่

พปชร.ชี้ต้องมีแผนแม่บท
 ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ หัวหน้าทีมนโยบายการเมืองและเครือข่าย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า เอสเอ็มอีกำลังอยู่ในรอยต่อสำคัญ ขณะที่โครงสร้างของรัฐที่จะผลักดันนโยบายก็ผิดเพี้ยน ต้องมีแผนแม่บทเชิงนโยบาย เพื่อแก้ทั้งระบบเพื่อขับเคลื่อนเอสเอ็มอีไปพร้อมกัน

แรกสุดต้องปรับบทบาทสสว.มุ่งทำเรื่องนโยบายและบิ๊กดาต้า ให้รู้ปัญหาอยู่ตรงไหน ส่วนการเอานโยบายไปปฎิบัติเป็นหน้าที่กระทรวงต่างๆ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ และจัดสรรงบเพื่อใช้ขับเคลื่อนเอสเอ็มอีได้ทั้งหมด ขณะเดียวกันต้องมีองค์กรกึ่งอิสระทำหน้าที่ประเมินผลการขับเคลื่อนนโยบาย และผลงานจากการเอางบประมาณไปทำ เพื่อวัดผลให้เกิดความสมดุลกัน

อันดับสอง เอสเอ็มอีต้องปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล ไม่ใช่แค่ใช้เป็นเครื่องมือ แต่ต้องปรับถึงวิธีคิด สสว.ต้องมีโปรแกรมลงไปโค้ชชิ่งเติมเต็มส่วนขาดให้เอสเอ็มอี. อาจสร้างแพลตฟอร์มเป็นตัวเชื่อมโยงและหนุนเทคสตาร์ทอัพให้เกิดขึ้น และอันดับสุดท้ายคือแก้หนี้และเติมทุนซึ่งใช้ระบบแบงก์ไม่ได้เพราะไม่มีหลักประกัน ต้องออกกฎหมายพิเศษตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี โดยอาจใช้แนวทางการให้สินเชื่อแบบอาลีบาบา ที่เติมทุนเอสเอ็มอีที่ดีที่สุด

พท.ดึงบสย. ช่วย SME
 ขณะที่นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรค กล่าวว่า การส่งเสริมเอสเอ็มอีของไทยเหมือน ต้นไม้พิษ 3 ต้น คือ ต้นเงิน ต้นทุน และต้นตอ

  • เรื่องต้นเงิน ปัจจุบันเอสเอ็มอีไทยมีปัญหาแหล่งเงินทุน ข้อต่อระหว่างผู้ประกอบการกับสถานบันการเงินคือการค้ำประกันสินเชื่อ ที่ตอนนี้มีปัญหามาก แม้จะมีบสย.มาช่วยแต่ยังไม่พอ
  • ส่วนต้นทุน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าต้องปรับลดลงให้เหมาะสม
  • และสุดท้ายต้นตอ พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีนโยบายในการทุบทุนขนาดใหญ่ที่มีการผูกขาด แต่เลือกแนวทางการสร้างเวทีแบบคู่ขนาน ช่วยหนุนเอสเอ็มอีไทยให้เข้มแข็งมากขึ้น

เลิกแบล็กลิสต์สร้างโอกาส
ด้านนายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า 98 % ของเอสเอ็มอีไทยเป็นรายย่อยและเล็กถึง 3.1 ล้านราย แต่มีรายได้เป็นสัดส่วนเพียง 34% ต่อจีดีพีเท่านั้น สะท้อนถึงปัญหาหลายอย่างของธุรกิจเอสเอ็มอี ขณะที่แหล่งเงินทุนเองนั้น ก็ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินจากรัฐได้ ทำให้ต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งมีดอกเบี้ยสูงถึง 120-200% บางแห่งคิดดอกเบี้ยโหดถึงขั้น 20% ต่อวัน

นโยบายเอสเอ็มอีของพรรคชาติพัฒนากล้า จะสร้างโอกาสนิยมแทนประชานิยม คือ สร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีมีแต้มต่อธุรกิจ สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ปลดล็อกปัญหาอุปสรรคสำคัญ คือ ยกเลิกแบล็กลิสต์บูโร เปลี่ยนมาเป็นระบบเครดิตสกอร์ลิ่ง พร้อมกับผลักดันยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเฉดสี ด้วยการหาเงินใหม่ให้ประเทศ 5 ล้านล้านบาท ซึ่งเอสเอ็มอีก็เป็นหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเฉดสีด้วย

ทสท.smesต้องมีแต้มต่อ
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า นโยบายเอสเอ็มอีของของพรรค จะสร้างให้เอสเอ็มอีไทยมีแต้มต่อ โดยเริ่มที่แก้หนี้และเติมทุนก่อนเป็นอันดับแรก ผ่านกลไกการทำงานของกองทุน ทั้งกองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย กองทุนเอสเอ็มอีสร้างไทย และกองทุนเครดิตประชาชน เมื่อแก้หนี้เติมทุนแล้ว ต้องปลดล็อกข้อจำกัด โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายที่ไม่จำเป็นกว่า 1,400 ฉบับ โดยออกกฎหมายอีกหนึ่งฉบับมายกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคทั้งหมดไปทีเดียว

ต่อด้วยการสร้างโอกาสและรายได้ นโยบายพรรคจะมีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 3 ปี พร้อมส่งเสริมแพลตฟอร์มดิจิทัล สร้างนิคมคลัสเตอร์พิเศษของเอสเอ็มอีเป็นการเฉพาะ เพื่อสร้างระบบนิเวศให้กับเอสเอ็มอี และท้ายที่สุดคือ การทำกองทุนนวัตกรรม เพื่อสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีต่อไปในอนาคต

ก้าวไกลชู “หวยเอสเอ็มอี”
 ส่วนนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เสนอว่า เอสเอ็มอีไทยจะเติบโตได้ ต้องเข้มแข็งก่อน โดยมีพื้นที่ฟื้นฟูเหมือนเป็นป่าชายเลน เพื่อจะได้ฟูมฟักก่อนออกสู่ทะเลกว้าง โดยจะผลักดันให้เอสเอ็มอีมีแต้มต่อ เงินทุนมี และภาษีช่วย

ส่วนแรกแต้มต่อหนุน พรรคมีนโยบายในการทำหวยเอสเอ็มอี เมื่อซื้อสินค้าเอสเอ็มอี 500 บาท ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง สามารถนำไปแลกสลากกินแบ่งได้ 1 ใบ (จำกัดไม่เกิน 2 ใบต่อรายต่อเดือน) จำนวน 10 ล้านรายต่อเดือน ขณะที่ผู้ประกอบการเมื่อขายสินค้าครบ 5,000 บาท ก็สามารถแลกสลากได้ 1 ใบได้เช่นกัน

ถัดมาส่วนเงินทุน พรรคมีนโยบายเรื่องทุนสร้างตัวรายละ 1 แสนบาท และทุนตั้งตัววงเงิน 1 ล้านบาท เพื่อเอสเอ็มอี และส่วนสุดท้าย คือ ด้านภาษี โดยส่งเสริมการเพิ่มการหักค่าใช้จ่ายเหมาภาษีเงินได้ส่วนบุคคล จาก 60% เป็น 90% หากเข้าร่วมโครงการหวยเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการยังสามารถนำค่าแรงขั้นต่ำหักภาษีได้ 2 เท่า เป็นเวลา 2 ปี ด้วย

 

หน้า 11 หนังสิอพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,863 วันที่ 19-22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566