เปิดนโยบายส่งเสริม SME พรรคการเมืองสู้ศึกเลือกตั้ง 2566

15 ก.พ. 2566 | 10:21 น.

เปิดนโยบายพรรคการเมือง ด้านการส่งเสริมธุรกิจ SME ของประเทศไทย แต่ละพรรคมีข้อเสนอ และแนวทางอย่างไรในการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อสู้กับสถานการณ์โลก

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 สื่อในเครือเนชั่น จัดงานสัมมนา “อนาคตประเทศไทย : SME จะไปทางไหน?” โดยได้มีการเชิญตัวแทนของพรรคการเมือง ร่วมแสดงความคิดเห็นและนำเสนอนโยบายเกี่ยวของกับการส่งเสริมธุรกิจ SME ของประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ นโยบายพรรคการเมืองทำอย่างไร? ให้โดนใจเอสเอ็มอี สามารถสรุปได้ ดังนี้

เพื่อไทยพร้อมยกระดับ บสย. ช่วย SME

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมองเรื่องการส่งเสริมเอสเอ็มอีของไทยเหมือนต้นไม้พิษ 3 ต้นคือ ต้นเงิน ต้นทุน และต้นตอ โดยส่วนแรกคือ ต้นเงิน ปัจจุบัน SME ของไทยยังประสบปัญหาแหล่งเงินทุน โดยสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างผู้ประกอบการกับสถานบันการเงิน นั่นคือ การค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งในตอนนี้ยังพบว่ามีปัญหาอยู่มาก

ทั้งนี้ในประเด็นปัญหาเรื่องของการค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี แม้ที่ผ่านมาภาครัฐจะมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งพรรคเพื่อไทย พร้อมเข้าไปยกระดับ บสย. เพื่อช่วยเหลือให้มากขึ้น 

ส่วนต่อมาคือ ต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนค่าไฟฟ้า ทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ต้องปรับลดลงให้เหมาะสม และสุดท้าย คือ ต้นตอ พรรคเพื่อไทย ไม่ได้มีนโยบายในการทุบทุนขนาดใหญ่ที่มีการผูกขาด แต่เลือกแนวทางการสร้างเวทีแบบคู่ขนาน ซึ่งจะช่วยให้สนับสนุนเอสเอ็มอีไทยได้มากขึ้น

 

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย

ชาติพัฒนากล้า สร้างโอกาสนิยม

นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการ SME ไทยมีทั้งหมด 3.2 ล้านราย แต่ที่น่าห่วงคือเป็นรายย่อยและรายเล็กถึง 3.1 ล้านราย หรือ 98% มีรายได้สัดส่วนเพียงแค่ 34% ต่อจีดีพีเท่านั้น สะท้อนถึงปัญหาหลายอย่างของธุรกิจเอสเอ็มอี ขณะที่แหล่งเงินทุนเองนั้น ก็ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินจากรัฐได้ ทำให้ต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งมีดอกเบี้ยสูงถึง 120-200% บางแห่งคิดดอกเบี้ยโหดถึงขั้น 20% ต่อวัน

สำหรับนโยบายการเข้าไปดูแลธุรกิจเอสเอ็มอีของพรรคชาติพัฒนากล้า จะสร้างโอกาสนิยมแทนประชานิยม นั่นคือ การสร้างโอกาสต่าง ๆ ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี ให้มีแต้มต่อในการดำเนินธุรกิจ สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน และปลดล็อกปัญหาอุปสรรคสำคัญ คือ การยกเลิกยกเลิกแบล็กลิสต์บูโร มาเป็นระบบเครดิตสกอร์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีมีเงินทุนทำธุรกิจมากขึ้น 

พร้อม ๆ กับการผลักดันยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเฉดสี ด้วยการหาเงินใหม่ให้ประเทศ 5 ล้านล้านบาท ซึ่งเอสเอ็มอีก็เป็นหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเฉดสีด้วย

 

นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า

ไทยสร้างไทยเอสเอ็มอีไทยต้องมีแต้มต่อ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ตนเองมีประสบการณ์เกี่ยวกับการส่งเสริมเอสเอ็มอีมานานตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจเล็ก ๆ จึงเห็นปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งนโยบายของพรรคเองนั้น ได้ประกาศออกมาแล้วว่าจะสร้างให้เอสเอ็มอีไทยมีแต้มต่อ ผ่านการดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้

เริ่มต้นการแก้หนี้และเติมทุน ส่วนแรกนี้จะต้องหาทางแก้ปัญหาหนี้สินของเอสเอ็มอีก่อนเป็นอันดับแรก ผ่านกลไกการทำงานของกองทุน ทั้งกองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย กองทุนเอสเอ็มอีสร้างไทย และกองทุนเครดิตประชาชน เมื่อแก้หนี้เติมทุนแล้ว ต้องปลดล็อกข้อจำกัด โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายที่ไม่จำเป็นกว่า 1,400 ฉบับ ซึ่งนโยบายพรรคจะเสนอให้ออกกฎหมายมาหนึ่งฉบับเพื่อยกเลิกกฎหมายทั้งหมดนี้ไป เช่น กฎหมายอย. เป็นต้น

ส่วนสุดท้ายคือการสร้างโอกาสและรายได้ นโยบายพรรคจะมีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 3 ปี พร้อมส่งเสริมแพลตฟอร์มดิจิทัล สร้างนิคมคลัสเตอร์พิเศษของ SME เป็นการเฉพาะ เพื่อสร้างระบบนิเวศให้กับเอสเอ็มอี และท้ายที่สุดคือ การทำกองทุนนวัตกรรม เพื่อสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีต่อไปในอนาคต

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย

 

ก้าวไกล ดันนโยบาย “หวย SME”

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กล่าวว่า นโยบายของพรรคก้าวไกลเกี่ยวกับการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มองว่า การจะให้เอสเอ็มอีของไทยเติบโตได้ จำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งให้ก่อน โดยยกตัวอย่างว่าการส่งเสริมคงต้องมีพื้นที่เหมือนกับป่าชายเลนให้เอสเอ็มอี ได้ฟูมฟักก่อนที่จะออกไปสู่ทะเลกว้างได้ โดยจะผลักดันให้เอสเอ็มอีมีแต้มต่อ เงินทุนมี และภาษีช่วย

ส่วนแรก แต้มต่อหนุน พรรคมีนโยบายในการทำหวย SME นั่นคือ สนับสนุนประชาชนซื้อสินค้า SME ครบ 500 บาท ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง สามารนำไปแลกสลากกินแบ่งได้ 1 ใบ (จำกัดไม่เกิน 2 ใบต่อรายต่อเดือน) จำนวน 10 ล้านรายต่อเดือน ขณะที่ผู้ประกอบการเมื่อขายสินค้าครบ 5,000 บาท ก็สามารถแลกสลากได้ 1 ใบได้เช่นกัน

ส่วนต่อมาคือเรื่องเงินทุน พรรคมีนโยบายเรื่องทุนสร้างตัวรายละ 1 แสนบาท และทุนตั้งตัววงเงิน 1 ล้านบาท เพื่อเอสเอ็มอี และส่วนสุดท้าย คือ ด้านภาษี โดยส่งเสริมการเพิ่มการหักค่าใช้จ่ายเหมาะภาษีบุคคลจาก 60% เป็น 90% หากเข้าร่วมโครงการหวย SME และผู้ประกอบการยังสามารถนำค่าแรงขั้นต่ำหักภาษีได้ 2 เท่า เป็นเวลา 2 ปี ด้วย

 

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล