EIC ชี้ทิศทางโลกขัดแย้งชัดเจนขึ้น แนะ 3 ทางรอดธุรกิจไทยฝ่าวิกฤต

23 ม.ค. 2566 | 09:11 น.

EIC ไทยพาณิชย์ เผยความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์โลกแบ่งขั้วชัดเจน ชี้อนาคต 5 ปีข้างหน้าตรรกะเปลี่ยน ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น เปิด 3 มิติการปรับตัวธุรกิจไทย

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวเสวนา หัวข้อ “อนาคต...ทิศทางโลกขัดแย้ง” ในงานสัมมนา “Geopolitics : The Big Challenge for Business โลกแบ่งขั้ว ธุรกิจพลิกเกม” จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่า ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในปี 2566 นี้พอหายใจได้ หากเทียบกับดัชนีชี้วัดภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ปรับสูงมากช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา

 

โดยขณะนี้ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เริ่มทยอยปรับลดลงมาแล้ว แต่ยังสูงยู่ ซึ่งมองว่าความขัดแย้งของรัสเซียกับยูเครน เป็นจุดเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์ที่มีการแบ่งขั้วที่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมามีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อยู่แล้ว ทั้งเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ อิรักกับอิหร่าน เป็นต้น

 

“การมีสงครามรัสเซียและยูเครนเกิดขึ้น ทำให้เกิดการแบ่งขั้วของสหรัฐ กับจีน ในส่วนของฝั่งตะวันออก และตะวันตกเกิดขึ้น ซึ่งในปีนี้จะพอหายใจได้ แต่ความเสี่ยงจะยังอยู่กับเราไปนาน ต้องมีการตั้งรับ ระยะกลาง และระยะยาวที่จะเกิดขึ้น”

ทั้งนี้ EIC มองว่าอนาคตระยะปานกลาง จะเห็น 2 ประเทศมหาอำนาจ สหรัฐอเมริกากับจีน จะแข่งกันอย่างมีชั้นเชิงมากขึ้น จากที่ผ่านมาเริ่มเห็นสหรัฐฯ รุกจีนมาเรื่อยๆ จากลักษณะการกรีดกันเรื่องเทคโนโลยี เป็นต้น

อย่างไรก็ดี มองว่าภาพ 5 ปีหน้าตรรกะจะเริ่มเปลี่ยน เพราะความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์มีการแบ่งขั้ว ก็มีการแบ่งแยก ธุรกิจต้องกลับมาคิดว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยน เพราะจากต้นทุนที่เคยถูก และมีประสิทธิภาพสูงสุด อาจจะทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น

ขณะเดียวกันก็มีการศึกษาของ IMF กรณีการแยกขั้วที่เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ประเทศที่เกี่ยวข้องจะมีการย้ายทิศทาง แต่สุดท้ายโลกก็ไม่ได้แย่ลงมากนัก หากมีการแยกเป็นบางเสี้ยวผลกระทบต่อโลกน้อย แต่มีการแยกวงใครวงมันอาจจะทำให้เศรษฐกิจโลกติดลบเยอะ

ส่วนเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบเยอะ คือประเทศกำลังพัฒนาอย่างเราๆ เพราะพึ่งพาเศรษฐกิจที่กำลังเปิด ฉะนั้น หากตรรกะที่ไม่เหมือนเดิมโลกจะได้รับผลกระทบ แต่สามารถปรับตัวได้ แบบค่อยเป็นค่อยไปภายใต้ดุลยภาพแบบใหม่

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยก็เป็นกลุ่มที่มีสัญญาการค้ากับหลายประเทศ และพยายามที่จะสร้างของใหม่ ลักษณะการแบ่งขั้วไม่แย่มากนัก เพราะเป็นไปได้ที่จะมีประเทศที่จะใช้ประโยชน์ความสัมพันธ์กับทุกๆ วง หากประเทศไทยปรับตัวเข้าหาทุกวงได้ก็จะมีการปรับตัวเข้ากับตลาดใหม่ๆ ได้

ทั้งนี้ กรณีภูมิรัฐศาสตร์โลกมีการแบ่งขั้วมากขึ้น เศรษฐกิจไทยจะมีทั้งส่วนที่ได้และเสีย โดยประเมินว่าผลกระทบในเชิงบวกนั้นสามารถสร้างผลในเชิงบวกได้ 0.07% จากการสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับสหรัฐ และจีน, การย้ายฐานการผลิตออดจากจีน, และการส่งออกสินค้าทดแทนจีน

ขณะที่ผลกระทบในทางลบของเศรษฐกิจไทยนั้น จะได้รับผลกระทบกว่า -1.6% หากเศรษฐกิจโลกโตต่ำลง, ธุรกิจย้ายฐานการผลิตกลับประเทศแม่, และขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต โดยเฉพาะชิป

ทั้งนี้ เมื่อโลกเริ่มแบ่งขั้นอำนาจทางเศรษฐกิจ ธุรกิจกลุ่มที่จะได้ประโยชน์ แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  1. จากการย้ายฐาน ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง ขนส่ง คลังสินค้า นิคมอุตสาหกรรม
  2. สินค้าส่งออกไทยทดแทนสินค้าจีน ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า
  3. ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าถูกลง ได้แก่ อาหารสัตว์ และน้ำมันถั่วเหลือง

ขณะที่กลุ่มธุรกิจในไทยที่จะได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่

  1. ย้ายฐานการผลิตกลับประเทศแม่ ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์
  2. สินค้าส่งออกไปจีน เพื่อผลิตและส่งออกไปอเมริกาลกลง ได้แก่ ไม้ยาง เม็ดพลาสติก
  3. สินค้าส่งออกจีนที่ย้ายฐานมาไทยถูกกีดกันการค้า ได้แก่ ยางล้อ แผงโซลาร์ วัสดุก่อสร้าง
  4. แข่งขันกับสินค้านำเข้าจีน ได้แก่ เหล็ก

ทั้งนี้ ประเทศไทยใช้กลยุทธ์ในการเป็นกลางชัดเจนในภาพรวมของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งในภูมิภาคด้วย ทั้งมาเลเซีย สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาได้ และสามารถเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ได้ อย่างไรก็ดี การปรับตัวทำได้ 3 มิติ

  1. จัดการความเสี่ยง ได้แก่ การกระจายแหล่งวัตถุดิบและตลาด ดูแลงบดุล ให้มีสภาพคล่องเหลือ หากต้นทุนสูงสามารถบริหารจัดการได้ ลดต้นทุนไม่จำเป็น และเพิม่ความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพ
  2. เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ได้แก่ ติดตามพฤติกรรมผู้บริโภค ใช้เทคโนโลยีช่วย และตอบโจทย์เข้าใจลูกค้าด้วย Data Analytic
  3. ลงทุน เทคโนโลยี ปรับโมเดลธุรกิจ ได้แก่ Retrain & Reskill คน ปรับโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องตลาด และระเบียบการค้าโลก การสร้างPartnership หรือควบรวมธุรกิจ และลงทุนเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพ