ส่องแนวโน้มธุรกิจบริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ปี 66 -68

24 ธ.ค. 2565 | 05:26 น.

เจาะแนวโน้มธุรกิจบริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนปี 2566 -2568 พร้อมส่องปัจจัยสนับสนุนการเติบโตมีอะไรบ้าง เช็คเลย

วิจัยกรุงศรี เผยบทวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจ - อุตสาหกรรมปี 2566-2568 บริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยคาดว่าจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับใกล้เคียงปี 2562 โดยมีรายละเอียดพร้อมทั้งปัจจัยสนับสนุนการเติบโต ดังต่อไปนี้ 

 

  • ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ารวมจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 18.9% ต่อปี เป็นการใช้บริการ BTS เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 19.8% ต่อปี MRT +15.7% ARL +24.0% และ SRTET สายสีแดง +35.1%

 

  • ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าเฉลี่ยต่อวันจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 16.7% ต่อปี โดยผู้ใช้บริการ BTS เพิ่มขึ้น 22.0% MRT +11.6% ARL +16.4% และ SRTET สายสีแดง +22.5% รายได้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า (เฉพาะสายหลัก) เฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 20% ต่อปี โดยคาดว่ารายได้ของรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวจะเพิ่มขึ้น 22% ขณะที่ MRT สายสีน้ำเงิน เพิ่มขึ้น 18% (ค่าโดยสาร    BTS ปรับขึ้นตั้งแต่มกราคม 2566 ขณะที่ MRT ตรึงราคายาวถึงกรกฎาคม 2566)


 

สำหรับปัจจัยสนับสนุนการเติบโตมาจาก

 

กำลังซื้อผู้บริโภคมีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี โดยการบริโภคภาคเอกชนจะเติบโตเฉลี่ย 4-5% ต่อปี และภาคท่องเที่ยวซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ระดับ 22.7 35.3 และ 40.4 ล้านคน ในปี 2566-2568 ตามลำดับ 

 

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเหนี่ยวนำให้เกิดโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้าและบริเวณใกล้เคียง การขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าทำให้โครงการอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการเกิดขึ้นทำเลใกล้รถไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงเทรนด์การอยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่ (NEW GEN) ที่เริ่มนิยมบ้านแนวราบใกล้รถไฟฟ้าเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหารถติด ทั้งยังสอดคล้องกับผลสำรวจของ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study (กรกฏาคม 2565) ที่ระบุว่าผู้บริโภคมากกว่าครึ่ง (51%) มองว่าโครงการที่อยู่อาศัยที่เดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ นับเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ 

 

วิจัยกรุงศรีคาดว่าปี 2566-2568 การเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งบ้านแนวราบและคอนโดมิเนียมจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5-8% ต่อปี โดยมีจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เฉลี่ยที่ 9.7 หมื่นยูนิตต่อปี (เทียบกับระดับเฉลี่ย 1 แสนยูนิตในช่วงปี 2557-2562 ก่อนการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19) สะท้อนจำนวนผู้ใช้บริการเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่จะเพิ่มขึ้นตามมา

ผู้บริโภคจะปรับพฤติกรรมมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อการเดินทางที่สะดวก รวดเร็วและมีความแน่นอนด้านเวลาในการเข้าสู่ใจกลางเมือง โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับระบบ Feeder ได้สะดวก อาทิ สายสีแดง (บางซื่อ-รังสิตและบางซื่อ-ตลิ่งชัน) ที่เชื่อมต่อขบวนรถดีเซลรางชานเมืองที่สถานีชุมทางตลิ่งชัน (สถานีธนบุรี-ตลิ่งชัน-นครปฐม) และเชื่อมต่อสายสีน้ำเงินที่สถานีจรัญสนิทวงศ์ ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีทองเชื่อมต่อสายสีเขียวที่สถานีกรุงธนบุรี และมี Feeder ข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้ทางเรือโดยสารสาธารณะ 

 

นอกจากนี้ ปัจจัยเอื้อให้มีการใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นมาจากปริมาณรถยนต์ใหม่ที่เข้าสู่ตลาดทุกปี โดยปริมาณรถยนต์สะสมใน BMR มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ที่สัญจรทางถนนในช่วงเวลาเร่งด่วน (เช้าและเย็น) มีแนวโน้มปรับลดต่อเนื่องหรือทรงตัวในระดับต่ำ สะท้อนจากอัตราความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ที่สัญจรทางถนนในช่วงเวลาเร่งด่วนในปี 2554-2559 ที่โน้มต่ำลงทุกปี 

 

ภาครัฐมีแผนขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่หรือส่วนต่อขยายซึ่งเชื่อมต่อเส้นทางเดินรถเดิม ทำให้มีจำนวนสถานีและระยะทางเดินรถหลากหลายมากขึ้นหรือไกลขึ้น จำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายเดิมจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามโครงข่ายการให้บริการที่จะเชื่อมต่อกันมากขึ้น หลังการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบของส่วนต่อขยายและรถไฟฟ้าสายใหม่ 

 

นอกจากนี้ การเร่งรัดจัดระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าได้สะดวก (Feeder เช่น เรือโดยสาร รถโดยสารประจำทาง ชัตเติลบัสและรถจักรยานยนต์รับจ้าง) จะเพิ่มความสะดวกและความสามารถในการรองรับจำนวนผู้โดยสาร โดยรถไฟฟ้าสายใหม่ที่มีแผนเปิดให้บริการในปี 2566-2568  ได้แก่

 

  • รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กม. จำนวน 30 สถานี จะเริ่มทดลองเดินรถ (Trial run ฟรีค่าบริการ) บางส่วน ในช่วงมีนบุรี-ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ จำนวน 19 สถานี ระยะทางรวม 21.5 กม. เดือนกรกฎาคม 2566 และจะให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบตลอดทั้งเส้นทางในเดือนสิงหาคม 2566 
  • รถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี จำนวน 3 สถานี ระยะทางรวม 2.8 กม. จะเปิดให้บริการปี 2568
  • รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) จำนวน 23 สถานี ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร จะเริ่มทดลองเดินรถ (Trial run ฟรีค่าบริการ)  เดือนพฤษภาคม 2566 และให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบในเดือนมิถุนายน 2566

 

ผู้ประกอบการยังเร่งปรับตัวด้านความปลอดภัย โดยมีแผนนำระบบไร้เงินสด (Europay Mastercard and Visa contactless) เชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าในสังกัด รฟม.กับรถไฟชานเมือง เรือโดยสาร รถโดยสาร บขส.และ ขสมก. เพื่อจูงใจให้มีผู้ใช้บริการข้ามเส้นทางสะดวกมากขึ้น (คาดเปิดใช้ในปี 2566)

 

การที่ภาครัฐสนับสนุนนโยบายลงทุนขยายเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดเป็นระบบโครงข่ายที่เชื่อมต่อกันทั้งหมด สะท้อนว่าผู้ประกอบธุรกิจบริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนมีโอกาสขยายการลงทุนได้อีกมาก โดยเอกชนผู้รับสัมปทานจะสามารถรับรู้รายได้จากบริการเดินรถ (รายได้ค่าโดยสาร และรายได้จากการซ่อมบำรุงรักษาระบบ) และบริการที่เกี่ยวข้องได้ต่อเนื่อง (รายได้จากสิทธิ์ในการเปิดให้เช่าใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ ได้แก่ ค่าโฆษณา ค่าบริการระบบติดต่อสื่อสาร และค่าเช่าพื้นที่) บริเวณสถานี ขบวนรถไฟฟ้าและพื้นที่โดยรอบ

 

แผนพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

 

ที่มาข้อมูล -ภาพ