ครม. สั่ง กฟผ.ยุติโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบ้านจันเดย์ 3.5 พันล้าน

20 ธ.ค. 2565 | 10:00 น.

ครม.เห็นชอบให้ กฟผ. ยุติการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านจันเดย์ กำลังผลิต 18 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุน 3.5 พันล้าน หลังจัดซื้อที่ดินไม่ได้ เผย มีแผนพัฒนาไฟฟ้าหมุนเวียนอื่นทดแทน

20 ธันวาคม 2565 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยุติการดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบ้านจันเดย์ ซึ่งตามโครงการฯ จะมีการก่อสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อจ่ายไฟใช้ในภาคตะวันตก มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2x9 เมกะวัตต์ (รวม 18 เมกะวัตต์)

 

ทั้งนี้ โครงการการไฟฟ้าพลังน้ำบ้านจันเดย์ เคยได้รับการอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2559 มีวงเงินลงทุนตามโครงการ 3,542 ล้านบาท โดยโครงการฯ ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-79 (แผน PDP2015)

 

มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2562 และต่อมาได้รับการบรรจุในแผน PDP ปี 2561-80 หรือ แผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งมีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2566

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า คณะกรรมการ กฟผ. ได้มีมติให้ กฟผ.ยุติการดำเนินโครงการฯ และนำเสนอกระทรวงพลังงานเสนอให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบตามขั้นตอน เนื่องด้วยที่ผ่านมา กฟผ. มีอุปสรรคเกี่ยวกับการดำเนินการจัดหาที่ดินสำหรับดำเนินโครงการฯซึ่งตามแผนจะตั้งอยู่บนลำน้ำแควน้อย บริเวณตอนล่างของเขื่อนวชิราลงกรณ โดยอยู่ห่างจากท้ายเขื่อนวชิราลงกร เป็นระยะทางตามลำน้ำประมาณ 22.5 กิโลเมตร และอยู่เหนือบ้านจันเดย์ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 180 ไร่ บนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิทั้งหมด

 

แต่ปรากฎว่า กฟผ. ไม่สามารถซื้อที่ดินเพื่อดำเนินโครงการตามรายงานศึกษาความเหมาะสมโครงการได้ เนื่องจากเจ้าของที่ดินมีความประสงค์ขายในราคาที่ต่อรองจนถึงที่สุดและสูงกว่าราคาที่ประเมินไว้ในรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการถึง 2 เท่า

ประกอบกับ กฟผ. มีข้อจำกัดทางเทคนิคในการคัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสมทางวิศวกรรมสำหรับก่อสร้างเขื่อนสำหรับโครงการฯ ทำให้ไม่สามารถหาพื้นที่อื่นทดแทนได้ และเนื่องด้วยโครงการฯ จะต้องใช้ระยะเวลาเตรียมการและก่อสร้างประมาณ 5 ปี โดยสภาพการณ์ในปัจจุบันจึงไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จเพื่อจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ทันภายในปี 2566 ตามแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่1 กำหนดได้

 

เมื่อพิจารณาถึงประเด็นความคุ้มค่าของการลงทุนตามโครงการฯ ในสถานการณ์ด้านพลังงานปัจจุบันแล้ว กฟผ. ยังพบว่าไม่มีความคุ้มค่ากับการลงทุน เทียบกับช่วงที่เริ่มศึกษาความเหมาะสมของโครงการในปี 2556 ที่ขณะนั้นยังพบว่า ยังมีความคุ้มค่า เมื่อเทียบกับการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนอื่นแต่เมื่อการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ด้านพลังงานเปลี่ยนไป พบว่า ณ ปัจจุบันค่าไฟจากโครงการฯ มีราคาสูงกว่าพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น โครงการพลังไฟฟ้าแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเศรษฐกิจฐานรากกำลังการผลิตมากกว่า 3 เมกะวัตต์ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ กฟผ. รายงานว่า เมื่อยกเลิกโครงการฯ แล้วไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เนื่องจากระบบไฟฟ้าในภาคตะวันตก มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายแห่ง และมีปริมาณไฟฟ้าสำรองเพียงพอกับการใช้ไฟฟ้า ขณะเดียวกันประเทศไทยมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ อีก โดย กฟผ. ได้วางแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอื่นที่มีเสถียรภาพและคุ้มค่าในการลงทุนมากกว่า