สภาอุตฯขอรัฐติดเบรก ขึ้นค่าไฟฟ้า 6 บาท ผวาต้นทุนพุ่งไม่หยุด-ต่างชาติหนี

09 ธ.ค. 2565 | 07:05 น.

สภาอุตฯ ขอรัฐชะลอขึ้นค่าไฟเป็น 5-6 บาทต่อหน่วย ผวาต้นทุนพุ่งไม่หยุด-ต่างชาติไม่เข้ามาลงทุน ทำไทยเสียเปรียบเวียดนามหนัก จี้ภาคธุรกิจวางแผนบริหารปัจจัยเสี่ยง ปี 66 ปัจจัยลบยังอื้อ สมาคมธนาคารฯแนะแบงก์ดูแลดอกเบี้ยกลุ่มเปราะบาง การ์เมนต์ชี้ค่าแรง 500 ใน 5 ปีเหมาะสม

ต้นทุนผู้ประกอบการไทยยังมีแนวโน้มพุ่งไม่หยุดจากราคาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตลาดโลกยังทรงตัวระดับสูง ส่งผลค่าไฟฟ้าที่เป็นอีกต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจและประชาชนยังต้องแบกรับในระดับสูง ซึ่ง ณ ปัจจุบันค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปรตามราคาพลังงาน (Ft) งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 เก็บอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

 

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็นแนวทางการปรับค่า Ft งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ใน 3 แนวทาง ที่อาจส่งผลให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นไปเป็น 5-6 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะทำนิวไฮเป็นค่าไฟที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ สร้างความกังวลต่อภาคธุรกิจที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนเพิ่ม หากไม่ได้รับการตรึงราคา

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เสนอขอให้รัฐบาลพิจารณาชะลอการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ Ft ของเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ออกไปก่อน เพราะจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าและบริการ ทั้งเพื่อส่งออกและจำหน่ายในประเทศที่ต้องปรับขึ้นไปอีก จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศ และค่าครองชีพของประชาชนอยู่ในระดับสูง

 

นอกจากนี้จะส่งผลกระทบมาก ต่อความสามารถในการแข่งขันดึงการลงทุนจากต่างประเทศของไทย โดยเปรียบเทียบกับเวียดนามที่ตรึงค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.88 บาทต่อหน่วย ถูกกว่าไทยเกือบเท่าตัวในเวลานี้ ย่อมมีผลต่อการพิจารณาและตัดสินใจของนักลงทุนที่จะไปที่เวียดนามมากกว่าในหลายอุตสาหกรรมที่สินค้าไทยและเวียดนามเป็นคู่แข่งขันกันในตลาดโลก ทั้งนี้อยากให้ภาครัฐได้ไปทบทวนเพื่อชะลอหรือตรึงค่าไฟฟ้าออกไปก่อน รวมถึงไปหาวิธีบริหารจัดการโครงสร้าง เพื่อให้ค่าไฟฟ้าถูกลง โดยหากค่าไฟถูกลงอยู่ที่ระดับ 3.10-3.15 บาทต่อหน่วย จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยดีขึ้น

 

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“เวียดนามตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 2.88 บาทต่อหน่วย และกำลังพิจารณาขึ้นค่าไฟภาคครัวเรือนอีก 3% กว่าหรือเกือบ 4% เป้าหมายให้ชาวเวียดนามใช้พลังงานอย่างประหยัด และคงต้นทุนภาคการผลิตของเขาให้แข่งขันได้ และเป็นจุดขายหนึ่งในการดึงการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่นโยบายไทยกลับกัน เพิ่มค่าไฟฟ้าให้กับภาคธุรกิจและไปชดเชยให้ภาคครัวเรือน ทำให้ผู้ประกอบการของเราโดยเฉพาะเอสเอ็มอีแย่ลง เพราะโดนหลายต่อ มีต้นทุนเพิ่มหลายด้าน ทั้งค่าจ้างแรงงานที่เพิ่งปรับไป (เมื่อ ต.ค.65) ดอกเบี้ยขาขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้น และอื่นๆ”

 

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า เรื่องต้นทุนค่าไฟฟ้านี้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมีความกังวลมากกว่านโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่จะปรับขึ้นค่าแรงหรือค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 หากได้เป็นรัฐบาล เพราะเรื่องค่าไฟเป็นของจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ส่วนการปรับค่าแรงเป็น 600 บาทต่อวัน (ปัจจุบันอยู่ที่ 328-354 บาทต่อวัน) ยังเป็นแค่นโยบายหาเสียงและยังไม่เกิดขึ้นจริง การเลือกตั้งยังไม่เกิด และก็ยังไม่ทราบว่าพรรคใดจะได้เป็นรัฐบาล ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำยังมีรายละเอียดอีกมาก และการปรับขึ้นยังต้องผ่านกลไกของไตรภาคีที่ต้องได้รับความยินยอมจากทั้งตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ดังนั้นยังไม่กังวลมากเท่ากับเรื่องต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะปรับขึ้น

 

สำหรับในปี 2566 ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการผลิตและส่งออก ที่ยังเป็นปัจจัยเดิมและปัจจัยใหม่ที่ต้องจับตาใกล้ชิด ซึ่งภาคธุรกิจต้องวางแผนในการบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยง (Risk Management) ทั้งจากภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจของยุโรปว่าจะรุนแรงแค่ไหน พัฒนาการความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของหลายคู่ของโลก สงครามการค้า สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะคลี่คลายลงเมื่อใด เพราะมีผลต่อห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน)ของโลกในหลายสินค้า ผลต่อราคาพลังงาน เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และค่าเงิน

 

รวมถึงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero COVID) ที่ทำให้เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นหนึ่งตลาดใหญ่ของการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยจะผ่อนคลายดีขึ้นตามลำดับเมื่อใด และอาจมีโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ อุบัติขึ้นอีก อย่างไรก็ดีหากหลายปัจจัยที่กล่าวมาคลี่คลายและมีทิศทางที่ดีขึ้น อาจมีการพิจารณาปรับตัวเลขทางเศรษฐกิจใหม่ จากล่าสุด กกร.คาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ไทยปี 2566 จะขยายตัวได้ 3-3.5% ส่งออกขยายตัว 1-2% และเงินเฟ้อ 2.7-3.2%

 

นายผยง  ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และประธานสมาคมธนาคารไทย

 

ด้าน นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การปรับนโยบายเศรษฐกิจสู่ภาวะปกติจะส่งผลให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า โดยผลกระทบต่อต้นทุนดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น ต้นทุนที่แท้จริงจะอยู่ในช่วง0.4%-0.6% เพราะขึ้นอยู่กับฐานเงินฝากและฐานเงินกู้ที่เป็นเงินบาททั้งหมดของระบบ ดังนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารจะบริหารจัดการและทยอยปรับขึ้น

 

ทั้งนี้นอกจากทุกธนาคารจะเน้นดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางให้ตรงเป้าเป็นจุด ๆ ไม่เหมาเข่งแล้ว ขณะเดียวกันในแง่เอกชนเองก็ต้องปรับตัว เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่บนฐานความบอบช้ำ จากวิกฤตซ้อนกัน 3 เรื่อง ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งดิจิทัลดิสรัปชั่น โรคติดต่อโควิด และล่าสุดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งการแบ่งขั้วของโลกจะเพิ่มต้นทุนของซัพพลายเชน โครงสร้างการค้า และบริการอย่างแน่นอน

 

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก ปัจจุบันในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (การ์เมนต์) ใช้แรงงานอยู่ประมาณ 7 หมื่นคน โดยปรับลดลงจากระดับแสนคนในปี 2562 จากธุรกิจได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด เมื่อรวมกับอุตสาหกรรมสิ่งทอแล้ว เวลานี้ใช้แรงงานทั้งคนไทยและต่างชาติอยู่ประมาณ 1.2-1.3 แสนคน (จากปี 2562 อยู่ระดับ 1.5-1.7 แสนคน)

 

โรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่ม ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 500 บาทต่อวัน ในอีก 5 ปี เป็นอัตราที่เหมาะสม

 

 “ปัจจุบันในอุตสาหกรรมการ์เมนต์จ่ายค่าแรงอยู่ที่ระดับ 300 บาทกลาง ๆ ถึง 300 บาทปลาย ๆ ต่อวัน ถ้ามีทักษะฝีมือดีก็ได้มากกว่า 400 บาทต่อวัน เวลานี้ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก โดยหลายตลาดเศรษฐกิจเริ่มถดถอย ทำให้คู่ค้าชะลอการรับมอบสินค้าและชะลอลงออเดอร์ใหม่ หลายโรงงานชะลอการเพิ่มกำลังผลิตในช่วงนี้เพื่อรอให้สถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันมองว่าจะส่งผลกระทบมากต่อโรงงานเอสเอ็มอีที่จะอยู่ยาก ส่วนรายใหญ่เขามีโรงงานในต่างประเทศ เช่น ในเวียดนาม กัมพูชา สามารถปรับสมดุลธุรกิจได้ อย่างไรก็ดีหากมีการทยอยปรับขึ้นค่าจ้างในช่วง 5 นับจากนี้สู่ระดับ 500 บาทต่อวันจะเข้าใจและยอมรับได้มากกว่า จากปัจจุบันค่าแรงคิดเป็นสัดส่วน 30-50% ของต้นทุนการผลิตเครื่องนุ่งห่ม” นายยุทธนา กล่าว

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3843 วันที่ 11 -14 ธันวาคม พ.ศ. 2565