ไอคอนสยาม เนรมิตกระทง Eco รักษ์โลก สานสัมพันธ์สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค

14 พ.ย. 2565 | 01:26 น.

ไอคอนสยาม เนรมิตกระทงสุดอลังการ ชูงานฝีมือผสานความรู้และอารยธรรมของชาติสมาชิกเอเปค รังสรรค์เป็นกระทงรักษ์โลก ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มอบ 21 สมาชิก ร่วมสืบสานประเพณี สร้าง soft power ประเทศไทย คืนวันงานกาลาดินเนอร์วันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ ที่หอประชุมกองทัพเรือ

จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในการที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค 2022) ที่มีกำหนดการจัดงานกาลาดินเนอร์ในวันที่ 17 พฤศจิกายน  2565 ที่หอประชุมกองทัพเรือ ซึ่งจะมีการแสดงต่างๆ อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ และมีนักร้องชื่อดังอันดับ 1 ของประเทศ มาขับร้องบทเพลงเฉพาะที่แต่งขึ้นสำหรับการประชุมเอเปค การแสดงตามคำขวัญของเอเปค “เปิดกว้าง เข้าถึงและยั่งยืน” 

ไอคอนสยาม เนรมิตกระทง Eco รักษ์โลก สานสัมพันธ์สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค

พร้อมกันนี้ จะนำอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ เป็น Soft Power ของไทย และมอบของที่ระลึกที่เตรียมมอบให้ผู้เข้าร่วมประชุม และไฮไลต์สำคัญ คือ จะเชิญผู้นำเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมกันสืบสานประเพณีลอยกระทง ณ บริเวณที่จัดงาน 

เกาหลีใต้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไอคอนสยาม ได้ร่วมต้อนรับสมาชิกเขตเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก เนรมิตกระทงสานสัมพันธ์สมาชิกเขตเศรษฐกิจ 21 กระทง ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไทย สหรัฐอเมริกา ร่วมด้วยสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส,สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส,สถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์

ไอคอนสยาม เนรมิตกระทง Eco รักษ์โลก สานสัมพันธ์สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค

เพื่อเชื่อมสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ พร้อมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ผ่านการประดิษฐ์กระทงสุดประณีตและวิจิตรบรรจง โดยได้นำแลนมาร์กอันโดดเด่นและประวัติศาสตร์ริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านกระทง โดยสร้างสรรค์ภายใต้แนวคิด Eco รักษ์โลก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ออสเตรเลีย

ความอลังการของ 21 กระทงนี้ นอกจากสร้างสรรค์ภายใต้แนวคิด Eco รักษ์โลก ที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง Soft Power ให้กับประเทศ ประชาชนที่สนใจยังสามารถเข้าชมความงดงามของงานฝีมือ พร้อมกับรับความรู้ความเป็นเอกลักษณ์ของไทยและประเทศสมาชิกเอเปค ได้ตั้งแต่วันนี้ – 22 พฤศจิกายน ที่ ICONLUXE ชั้น M ไอคอนสยาม

 

สำหรับรายละเอียดกระทงแต่ละประเทศ ประกอบด้วย

“แคนนาดา”

เริ่มที่ความงดงามของกระทงจาก “แคนนาดา” ประดับด้วยเรือแคนู ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างคนแคนาดาและน้ำ คล้ายกับกระทงสำหรับคนไทย  ประดับด้วยใบเมเปิลซึ่งเป็นต้นไม้ประจำชาติของแคนาดา เป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง ทนทาน เนื่องจากต้นเมเปิลสามารถทนกับสภาพอากาศได้ดี และช่วงฤดูใบไม้ร่วงยังเป็นช่วงที่นิยมมาเที่ยวชมใบไม้เปลี่ยนสีอีกด้วย  

  "จีน"

เมื่อเห็น “แพนด้า” ทราบได้ดีว่าเป็นกระทงจาก “จีน” ซึ่งแพนด้าถูกยกให้เป็นสมบัติของชาติ ถือเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพและแสดงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของมนุษย์และธรรมชาติ  แพนด้านับว่าเป็นสัญลักษณ์ของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและมิตรภาพระหว่างจีนและประเทศอื่นๆ นอกจากกระทงจะโดดเด่นด้วยแพนด้า บริเวณรอบข้างประดับด้วยไม้ไผ่ที่เป็นอาหารสุดโปรดของแพนด้าอีกด้วย

ฝรั่งเศส

ส่วนพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดใน “ฝรั่งเศส” ได้รับการจำลองมาประดับบนกระทงในโอกาสนี้เพื่อให้สมกับเป็นเมืองแห่งศิลปะแขนงต่างๆ โดยพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ถูกออกแบบให้เป็นพีระมิดแก้วมีความร่วมสมัย เป็นอีกแลนด์มาร์คสำคัญของปารีส รอบกระทงประดับด้วยผลงานศิลปะที่มีชื่อเสียงที่มีอยู่ในฝรั่งเศส อาทิ ภาพโมนาลิซ่าและรูปปั้นวีนัสเดอไมโล เพื่อสื่อถึงความยั่งยืนทางวัฒนธรรมของประเทศ และเป็นเมืองที่พบผลงานชิ้นเอกที่มีชื่อเสียงที่สุด


อินโดนีเซีย

สำหรับ “อินโดนีเซีย” บริเวณด้านบนของกระทงได้จำลองเรือ Phinisi  ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์การเดินเรืออันยิ่งใหญ่ โดยเป็นการสานกระทงจากไม้ไผ่ที่มีความประณีต ละเอียด และมีการแกะสลักไม้เป็นลายเกลียวคลื่นทะเลรองฐานเรือเปรียบเสมือนเป็นประเทศที่มีหมู่เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประดับด้วยผ้าบาติกที่เป็นเอกลักษณ์ของอินโดนีเซียด้วยลวดลายปะการังที่อยู่ใต้ท้องทะเล สะท้อนถึงอินโดนีเซียได้อย่างชัดเจน

“ญี่ปุ่น”

ด้าน “ญี่ปุ่น” เนื่องในโอกาสครบรอบ 135 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทย-ญี่ปุ่น  จึงได้ออกแบบด้วยเลข 135 ซึ่งถือโดยตัวละคร “ชิบาราคุ” จากศิลปะการแสดงละครดั้งเดิมของญี่ปุ่น “คาบูกิ” พร้อมด้วย “พระราม” จากศิลปะการแสดง “โขน” อันถือเป็นศิลปะอันทรงคุณค่าของแต่ละประเทศ  ซึ่งทั้งศิลปะการแสดงคาบูกิและโขนต่างได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของโลก

“เม็กซิโก”

กระทงของ “เม็กซิโก” เป็นการบอกเล่าความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมายาวนาน สะดุดตาด้วย 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่าง “พีระมิดชิเชนอิตซา (Chichen Itza)” โบราณสถานสำคัญที่แสดงถึงอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาวมายา สร้างขึ้นในสมัยอารยธรรมมายัน หรือระหว่างศตวรรษที่ 10 – 15 ปัจจุบันตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่เหนือคาบสมุทรยูคาตัน ทางตอนกลางของเม็กซิโก ในส่วนของฐานกระทงตกแต่งด้วย "Papel picado" ซึ่งเป็นงานฝีมือตกแต่งแบบดั้งเดิมของชาวเม็กซิกันโดยการตัดการออกแบบที่ประณีตลงในแผ่นกระดาษหลากสีสัน นอกจากนี้ยังมีพืชผลทางการเกษตรสำคัญ อาทิ มะละกอ มะเขือเทศ ผลวนิลา และต้นพอยน์เซตเทีย ที่มีใบสีแดงซึ่งถูกค้นพบในแทบประเทศเม็กซิโกและนิยมประดับในเทศกาลคริสมาสต์

“เปรู”

ส่วนกระทงจาก “เปรู” สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ทางด้านการเกษตรซึ่งเป็นภาคการผลิตที่สำคัญของประเทศ มีสีสันที่ลงตัวอย่างยิ่ง โดยฐานกระทงโดดเด่นด้วยบลูเบอร์รีและอะโวคาโด ผลไม้ซุปเปอร์ฟู้ด 2 ชนิดที่เปรูเป็นหนึ่งในผู้นำในการส่งออกของโลก พร้อมด้วยดอกกานตูตา (Cantuta) ดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินคาและเป็นดอกไม้ประจำชาติ บนยอดกระทงมีหญิงชาวเปรูและลูกน้อยที่เป็นตัวแทนที่เป็นตัวแทนของครอบครัวเกษตรกรที่ขยันขันแข็ง พร้อมด้วยตะกร้าที่บรรจุควินัว สุดยอดซุปเปอร์ฟู้ดอีกชนิดที่เปรูส่งออก และบิกุญญาสัตว์ตระกูลอูฐ ซึ่งเป็นสัตว์ประจำประเทศและมีภาพปรากฏบนตราแผ่นดิน

           “รัสเซีย”

ยานอวกาศ "โซยุซ" ถูกจำลองมาประดับบนกระทงของ “รัสเซีย” กลมกลืนด้วยเรือตัดน้ำแข็ง "50 Let Pobedy" ที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์เพียงเครื่องเดียวของโลกที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จอันโดดเด่นของรัสเซียในการต่อเรือและการเดินเรือทางทะเล โดยบริเวณลำเรือประดับด้วยโลโก้ครบรอบ 125 ปี ของความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่าง รัสเซียและไทยเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลลอยกระทงในปี 2565 นี้พร้อมทั้งมีข้าวสาลี ปลาสเตอร์เจียนต้นกำเนิดไข่ปลาคาเวียร์ตกแต่งด้านหน้ากระทงเพื่อแสดงถึงทรัพยากรธรรมชาติของรัสเซียที่อุดมสมบูรณ์

“สิงคโปร์”

สำหรับกระทงของ “สิงคโปร์” มีทั้งสิ้น 3 ชั้น ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอดีตและปัจจุบัน แสดงให้เห็นพัฒนาการในตลอดหลายปีที่ผ่านมาของสิงคโปร์ ด้านบนสุดมี “เมอร์ไลออน (Merlion)” หนึ่งในสัญลักษณ์อันโดดเด่น ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงสุดของประเทศ ชั้นถัดลงมาเป็นแบบจำลองสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่โดดเด่น ทั้ง มารีนา เบย์ แซนส์, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ศิลปะ, ชิงช้าสวรรค์สิงคโปร์ฟลายเออร์ และต้นซูเปอร์ทรี ณ การ์เด้นส์ บาย เดอะ เบย์ และชั้นล่างสุดเป็นแบบจำลองสัญลักษณ์อันโดดเด่นจากประวัติศาสตร์ของประเทศ อาทิ แบบจำลอง Samsui women สตรีสวมหมวกสีแดง,รถสามล้อถีบ และสุดท้าย เรือสำปั้น เรือไม้ขนาดเล็กสำหรับการคมนาคมและการประมงในอดีต

“สวิสเซอร์แลนด์”

ความสวยงามของ “สวิสเซอร์แลนด์” ได้รับการย่อส่วนจำลองมาประดับบนกระทงสวยงามด้วยเทือกเขา ทะเลสาป ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของสวิสเซอร์แลนด์ อีกทั้งยังมีทุ่งหญ้าเขียวขจีและวัวลิลลี่แสนสุขประดับอย่างกลมกลืนกับรถไฟ Glacier Express และเรือ Zenna จำลองซึ่งเป็นเรือหางยางไฟฟ้าขับพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งในไทยก็ได้มีการปรับใช้เรือหางยาวไฟฟ้าในการนำชมแหล่งท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน

“สหรัฐอเมริกา”

กระทงจาก “สหรัฐอเมริกา”  โดดเด่นด้วยสถานที่สำคัญอย่าง “สะพานโกลเดนเกต” แลนด์มาร์กสำคัญของเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียมาตกแต่ง สะพานแขวนที่ยาว 2,737 เมตรนี้ เป็นงานออกแบบที่ได้รับอิทธิพลจากสไตล์ Art Deco และเป็นสีส้ม International Orange ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นสีพิเศษที่เลือกมาใช้เพื่อตัดกับสีฟ้าของน้ำทะเลและท้องฟ้าที่ล้อมรอบตัวสะพาน ชื่อของสะพานโกลเดนเกตมาจากคำอธิบายของนาวาเอกแห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ท่านหนึ่งที่พรรณนาถึงอ่าวซานฟรานซิสโกว่าเป็น "ประตูสีทองสู่การค้าขายกับทางตะวันออก"

 

"ไทย"

สำหรับประเทศไทย นำอีกหนึ่งแลนด์มาร์กอันโดดเด่น อย่างวัดภูเขาทองมานำเสนอ สำหรับพระบรมบรรพตหรือภูเขาทอง เป็นเจดีย์ของวัดสระเกศหรือวัดภูเขาทอง ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จากกรุงกบิลพัสดุ์ ประเทศอินเดีย สร้างเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คอันโดดเด่นของกรุงเทพมหานครที่ชาวต่างชาติรู้จักกันดี งานภูเขาทองและลอยกระทงมีความเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร เป็นอีกหนึ่งงานเทศกาลประเพณีที่พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวต่างตั้งตารอคอยในช่วงเดือนพฤศจิกายน

"บรูไน" "มาเลเซีย" "โปรตุเกส" "นิวซีแลนด์" "ฟิิลิปปินส์"