“พาณิชย์” ดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย  ร่วมปลุกกระแส ท่องเที่ยวเชิงอาหาร

03 พ.ย. 2565 | 07:17 น.

“พาณิชย์” ดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย ร่วมปลุกกระแส ท่องเที่ยวเชิงอาหาร ดึงเชฟมิชลินลุยถิ่นอีสาน รังสรรค์เมนูรสเลิศจากวัตถุดิบ GI  โชว์อัตลักษณ์ท้องถิ่นไทยสู่สายตาต่างชาติ

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ไทย ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของไทยให้เข้มแข็ง ทั้งนี้ สินค้า GI ไทย 136 รายการ จากทั้งหมด 171 รายการ เป็นสินค้าประเภทอาหารและผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและเป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนในแต่ละท้องถิ่น

“พาณิชย์” ดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย   ร่วมปลุกกระแส ท่องเที่ยวเชิงอาหาร

เมื่อนำมาผนวกกับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สินค้า GI ในภาคอีสานของไทยจึงเป็นตัวชูโรงที่ช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมอีสานและดึงดูดนักท่องเที่ยว ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างเป็นรูปธรรม

“พาณิชย์” ดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย   ร่วมปลุกกระแส ท่องเที่ยวเชิงอาหาร

ดังนั้นกระทรวงร่วมมือกับมิชลินไกด์ประเทศไทยพาเชฟระดับมิชลิน นำโดยเชฟชาลี กาเดอร์ จากร้าน 100 Mahaseth (100 มหาเศรษฐ์) ร้านอาหารอีสานที่ได้รางวัลบิบ กูร์มองด์ จากมิชลินไกด์ประเทศไทย และเชฟเดวิด ฮาร์ตวิก จากร้าน IGNIV Bangkok ที่ได้รับรางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประจำปี 2565 ลงพื้นที่คัดสรรวัตถุดิบ GI จากแหล่งผลิตในภาคอีสาน 4 สินค้า จาก 3 จังหวัด คือ ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ หอมแดงศรีสะเกษ กระเทียมศรีสะเกษ และเนื้อโคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร

“พาณิชย์” ดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย   ร่วมปลุกกระแส ท่องเที่ยวเชิงอาหาร

เพื่อนำมารังสรรค์เป็นเมนูอาหารฟิวชั่นที่ผสมผสานความเป็นไทยและสากลได้อย่างลงตัว ช่วยยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นไทยสู่สากล อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจในการนำวัตถุดิบ GI มาสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ให้นักท่องเที่ยวและผู้บริโภคได้ลิ้มลองรสชาติอาหารไทยที่โดดเด่น

“พาณิชย์” ดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย   ร่วมปลุกกระแส ท่องเที่ยวเชิงอาหาร

ด้าน นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า สินค้า GI เป็นสินค้าคุณภาพที่ขึ้นชื่อของจังหวัด มีกระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพที่ได้มาตรฐาน เพื่อส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ มีปริมาณการผลิต 437,468 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่า 6,343 ล้านบาท หอมแดงศรีสะเกษ มีปริมาณการผลิต 63,000 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่า 2,292 ล้านบาท กระเทียมศรีสะเกษ มีปริมาณการผลิต 2,180 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่า 218 ล้านบาท และเนื้อโคขุนโพนยางคำ มีปริมาณการผลิต 123 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่า 30 ล้านบาท เท่ากับว่าในแต่ละปีสินค้า GI ทั้ง 4 รายการ สร้างรายได้เข้าประเทศรวมกว่า 8,880 ล้านบาท ทั้งนี้ หากนำสินค้า GI มาต่อยอดเชิงพาณิชย์ในมิติอื่นๆ โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย จะยิ่งช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาและหน่วยงานพันธมิตรพร้อมให้การสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการ GI ไทยทั่วประเทศ เพื่อผลักดันสินค้าชุมชนสู่ตลาดโลกอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป