ศอ.บต.ดึงกลับ‘สงขลา-สตูล’  เข้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน     

07 ต.ค. 2565 | 08:00 น.

ศอ.บต. เสนอบอร์ดยุทศาสตร์พัฒนาชายแดนใต้ ดึงจังหวัดสงขลา-สตูล เข้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน หลังสภาพัฒน์ยกเลิกกลุ่มจังหวัดเพื่อจัดใหม่ทั่วประเทศ ประธานหอการค้าสงขลาชี้แก้ปัญหาผิดฝาผิดตัว เร่งข้อเสนอ 11 ประเด็นขับเคลื่อนชายเศรษฐกิจแดนใต้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการนายกรัฐมนตรี(เวลานั้น) เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) สัญจร ครั้งที่ 4/2565 ซึ่งภาคเอกชนได้นำเสนอ 11 ประเด็น เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ เรื่องแรกคือ กำหนดให้ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน

 

แหล่งข่าวเผยว่า ที่ประชุม กพต.ตอบรับข้อเสนอนี้ เนื่อง จากเวลานี้ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ยกเลิกกลุ่มจังหวัดทั้งหมด และอยู่ระหว่างการร่างระเบียบใหม่ ซึ่งจะมีการจัดกลุ่มจังหวัดขึ้นใหม่ทั้งประเทศ ด้วยเหตุนี้ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการ กพต. จึงเสนอประเด็นนี้ให้ สศช. นำไปพิจารณา ในการจัดกลุ่มจังหวัดกันใหม่ ให้รวมเป็น 5 จังหวัดภาคใต้ชายแดน

 ศอ.บต.ดึงกลับ‘สงขลา-สตูล’  เข้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน       

ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมาย ศอ.บต. และทั้งสงขลา-สตูล เคยอยู่ในกลุ่ม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่แล้ว ก่อนจะถูกแยกกลุ่มออกไป โดยขั้นตอนจากนี้ สศช.อยู่ระหว่างยกร่าง จากนั้นเสนอเข้าครม.ให้ความเห็นชอบออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป
 

 

“การดำเนินการไม่น่าจะเร็ว แต่เราก็จะพยายามให้กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน มีสงขลาและสตูล มาอยู่ภายใต้การทำงานของ ศอ.บต. เพื่อให้สามารถทำงานได้ทั้ง 16 อำเภอของจังหวัดของสงขลา และสตูลทั้งจังหวัดเช่นกัน”

 ศอ.บต.ดึงกลับ‘สงขลา-สตูล’  เข้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน       

ด้านนายธนวัตน์ พูนศิลป์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการประชุมกพต.สัญจร ภาคเอกชนได้นำเสนอ 11 ประเด็น ขับเคลื่อนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องแรกคือ ให้ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือนำสงขลาและสตูล กลับไปรวมเป็นกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ซึ่งเป็นเรื่องถูกต้อง เพราะเป็นจังหวัดที่อยู่ติดชาย แดน มีลักษณะทางภูมิศาสตร์คล้ายคลึงกัน ในการทำการค้าการท่องเที่ยว

 

ที่ผ่านมาเกิดความผิดพลาด ที่มีการแยกสงขลาไปอยู่กลุ่มจังหวัดภาตใต้ฝั่งอ่าวไทย และสตูลไปอยู่กลุ่มภาคใต้ฝั่งอันดามัน การจะแก้ไขเดิมคิดจะรวมสงขลา พัทลุง สตูล ขึ้นเป็นกลุ่มใหม่ แต่จะทำให้การ จัดกลุ่มจังหวัดภาคใต้เพิ่มเป็น 4 กลุ่ม ก็อาจติดปัญหาการจัดสรรงบประมาณ การให้สงขลากับสตูลกลับไปรวมในกลุ่มภาคใต้ชายแดนจึงน่าจะเหมาะสมและทำได้เร็วกว่า

นายธนวัตน์ พูนศิลป์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา

“การที่จังหวัดสงขลาถูกจัดให้ไปอยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย มีสุราษฎร์ธานี เป็นประธานกลุ่ม ทิศทางหลักของกลุ่มนี้คือ ขับเคลื่อนการ ท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทยสู่สากล แต่สงขลาเป็นเมืองการค้า การลงทุน มีการนำเข้าส่งออกสินค้า และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคใต้ ควรต้องเป็นพี่ใหญ่ของภาคใต้ เช่นเดียวกับสตูลที่ถูกแยกไปรวมกลุ่มภาคใต้ฝั่งอันดามัน ร่วมกับภูเก็ต กระบี่ พังงา ตรัง ไปเป็นหางแถวของกลุ่ม ที่ก็เน้นการท่องเที่ยวสู่สากลเช่นกัน ขณะที่สตูลมีการค้าชายแดน ค้าข้ามแดน จึงเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวอยู่นาน”

 

นายธนวัตน์ กล่าวอีกว่า การกลับมาอยู่ร่วมกลุ่มภาคใต้ชายแดนทำให้บูรณาการได้ดีกว่า จะขับเคลื่อนท่องเที่ยว ก็เป็นการท่องเที่ยวชายแดนด้วยกัน เน้นไปที่ตลาดมาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นเมืองชายทะเลเหมือนกันด้านการค้าการส่งออกก็สามารถรวบรวมจากยะลา ปัตตานี นราธิวาส มาที่สงขลา เพื่อส่งออกไปทางปีนัง โครงข่ายคมนาคมก็เชื่อมโยงกันได้ง่ายกว่า

 

รวมทั้งหาก กพต.รับข้อเสนอ 11 ข้อของภาคเอกชนไปขับเคลื่อน จะเกิดการพัฒนา สร้างความเคลื่อนไหว กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการกระจายสินค้า เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ยกระดับยะลาให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจทุเรียนครบวงจรของภาคใต้ชายแดน เป็นศูนย์ที่ 3 เพิ่มเติมจากระยอง และชุมพร จะทำให้สินค้าทุเรียนในพื้นที่ 5 จังหวัด เป็นสินค้าส่งออกที่ดีมาก ช่วยให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้

 

ส่วนที่สถานีรถไฟนาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ให้เป็นสถานีหลักในการขนส่งสินค้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ทางจังหวัดสตูลก็จะมีการจัดตั้งตลาดกลางสำหรับสินค้าเกษตร รองรับสินค้าเกษตร มูลค่าสูง เพื่อกระจายสินค้าจากสงขลา ไปออกทางปีนัง หรือขึ้นไปทางกลุ่มภาคใต้อันดามันและอ่าวไทย โดยให้เอกชนเป็นตัวนำ และภาครัฐเพียงคอยช่วยอำนวยความสะดวกเท่านั้น นายธนวัตน์ กล่าวทิ้งท้าย 

 

สมชาย สามารถ/รายงาน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42  ฉบับที่ 3,824 วันที่ 6-8 ตุลาคม พ.ศ.2565