“ทอท.” รื้อแผนศึกษาออกแบบสร้าง “สนามบินภูเก็ต เฟส2” วงเงิน 6.2 พันล้าน

07 ต.ค. 2565 | 07:06 น.

“ทอท.” เล็งของบปี 66 วงเงิน 180 ล้านบาท ลุยศึกษาอัพเกรด “สนามบินภูเก็ต เฟส2” 6.2 พันล้านบาท หลังเซ่นพิษโควิด-19 กระทบปริมาณผู้โดยสารลดลง เตรียมชงสภาพัฒน์-ครม.ไฟเขียวปลายปี 67 คาดเปิดบริการปี 70

ล่าสุด “บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)” หรือทอท. พยายามผลักดันขยายสนามบินภูมิภาคที่อยู่ในความดูแลหลายแห่ง 1 ในนั้นคือ “ท่าอากาศยานภูเก็ต” ที่มีแผนจะศึกษาระยะที่ 2 โดยเป็นการขยายอาคารรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น หากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จได้ตามเป้าหมาย จะทำให้ท่าอากาศยานดังกล่าวสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความหนาแน่นผู้โดยสารภายในท่าอากาศยานได้อย่างคล่องตัว

 

 

 

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 วงเงินลงทุน 6,211 ล้านบาท พื้นที่ 73,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ที่ผ่านมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ปัจจุบันทอท.อยู่ระหว่างเตรียมทบทวนรายละเอียดการวิเคราะห์เพื่อออกแบบของโครงการฯ วงเงินประมาณ 180 ล้านบาท โดยจะขอรับจัดสรรปีงบประมาณ 2566 ซึ่งการพัฒนาโครงการฯในครั้งนี้เป็นการขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International) เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 5.5 ล้านคนต่อปี จากเดิมที่สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 5 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพรองรับปริมาณผู้โดยสารรวม 10.5 ล้านคนต่อปี  คาดว่าจะเริ่มออกแบบได้ภายในปี 2566 ใช้ระยะเวลาดำเนินการออกแบบโครงการฯ 1 ปี แล้วเสร็จภายในปี 2567 

 

 

 

ขณะเดียวกันในช่วงที่อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบโครงการฯ ทางทอท.จะดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ควบคู่ไปพร้อมกัน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในกลางปี 2567 หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการทอท.พิจารณาก่อนที่จะเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เห็นชอบ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในปลายปี 2567  
 

ทั้งนี้ทอท.จะเริ่มดำเนินการเปิดประมูลหาผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการฯ ภายในต้นปี 2568 ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2570 ส่วนสาเหตุทที่มีการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 เนื่องจากพื้นที่ภายในของท่าอากาศยานฯ รวมทั้งทางวิ่งเครื่องบิน (รันเวย์) ยังมีศักยภาพ อีกทั้งช่วยตอบโจทย์ความแออัด ในการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่ต้องการเดินทาง หากเพิ่มการพัฒนาขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International)  จะทำให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการเงินด้วย 

 

 

 


“ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19  ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International) ที่มีความต้องการเดินทางในการใช้บริการท่าอากาศยานภูเก็ตลดลง แต่ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ประมาณ 50% คาดว่าปริมาณผู้โดยสารจะกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติ ภายในปี 2567-2568”

 

 


นายกีรติ  กล่าวต่อว่า จากปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าอากาศยานภูเก็ต พบว่าในช่วงปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International) อยู่ที่ 10.6 ล้านคนต่อปี คิดเป็น 113% ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารภายในประเทศ (Domestic) อยู่ที่ 7.4 ล้านคนต่อปี คิดเป็น 0.64% รวมปริมาณผู้โดยสารทั้งภายในประเทศและผู้โดยสารระหว่างประเทศอยู่ที่ 18.1 ล้านคนต่อปี ซึ่งเกิดขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสารของท่าอากาศยานภูเก็ต 
 

รายงานข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) กล่าวว่า กรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติ(ครม.)เห็นชอบในหลักการแนวทางให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการ ท่าอากาศยานอุดรธานี,บุรีรัมย์ และกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอนั้น ทางทอท.เชื่อว่าท่าอากาศยานกระบี่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต เนื่องจากเป็นท่าอากาศยานที่อยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน ทั้งนี้พื้นที่ภายในท่าอากาศยานภูเก็ตสามารถก่อสร้างทางวิ่งเครื่องบิน (รันเวย์) ได้เพียง 1 ช่องทางเท่านั้น 

“ทอท.” รื้อแผนศึกษาออกแบบสร้าง “สนามบินภูเก็ต เฟส2” วงเงิน 6.2 พันล้าน

 

 

“ที่ผ่านมาทอท.ต้องหาแนวทางขยายกลุ่มตลาดเพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสาร หากท่าอากาศยานกระบี่อยู่ในความดูแลของทอท.แล้วจะช่วยส่งเสริมศักยภาพคลัสเตอร์ทางภาคใต้ได้ดีขึ้น”

 

 

 

สำหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 พื้นที่ 73,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ประกอบด้วย 1. งานก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International)  2. งานก่อสร้างลานจอดอากาศยานรองรับอากาศยาน Code E จำนวน 3 หลุมจอด และลานจอดอุปกรณ์ภาคพื้นที่ (Ground Support Equipment) 3. งานปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค