ธปท.ย้ำค่าบาทมีเสถียรภาพ จี้ตุนทุนสำรองรับเศรษฐกิจถดถอย

06 ต.ค. 2565 | 13:30 น.

ผู้ว่าธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง จี้ออกมาตรการลดหนี้ครัวเรือนแบบครบวงจร ขณะที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยปีหน้า ต้องเตรียมตุนทุนสำรองไว้รับวิกฤต พร้อมดึงเงินไหลเข้าจากนักท่องเที่ยวเพิ่มแก้ขาดดุล ชูแนวคิด ESG ลดเสี่ยง

 

 

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและสื่อในเครือเนชั่นกรุ๊ป จัดงานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2023 มีดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายด้านการเงิน กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน”โดยระบุว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและทั่วถึงมากขึ้น ธปท.ประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 3.3% ปีหน้า 3.8%

 

              

 

ทั้งนี้มีปัจจัยจากแรงส่งหลักของภาคการบริโภคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวโดยคาดจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้อยู่ที่ 9.5 ล้านคนและปีหน้าเพิ่มเป็น 21 ล้านคน ขณะที่รายได้แรงงานปรับดีขึ้น ทั้งรายได้เกษตรกรและรายได้นอกภาคเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนโควิดปลายปีนี้หรือต้นปี2566

ธปท.ย้ำค่าบาทมีเสถียรภาพ จี้ตุนทุนสำรองรับเศรษฐกิจถดถอย

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูง แต่จะกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 1 ถึง 3% ในปี 2566 โดยสิ้นปีนี้ จะอยู่ที่ 6.3% เพราะเสถียรภาพด้านต่างประเทศเข้มแข็ง มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่ที่ 3.2 เท่า มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับที่ 12  ของโลก

 

และสูงเป็นอันดับ 6 เมื่อเทียบกับ GDP ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพแม้จะอ่อนลงมาอยู่ที่ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการอ่อนค่าอยู่ในระดับปานกลางที่ 12% ถือว่าอยู่ระดับกลางๆ หากเทียบกับภูมิภาคซึ่งจีนอยู่ที่ 11% ขณะดอลลาร์อยู่ที่ 17-18%

 

ไทยยังมีเสถียรภาพค่าเงินบาท

              

ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็ไม่ได้ช้าเกินไป เพราะบริบทของประเทศไทยต่างจากประเทศอื่นๆ เพราะ เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ที่เงินเฟ้อสูงจากปัจจัยอุปทานเป็นหลัก แรงกดดันด้านอุปสงค์จํากัด รวมถึงอัตราการขึ้นของดอกเบี้ยไม่น้อยไป เพราะเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว และยังมีกลุ่มเปราะบาง ที่ต้องดูแลด้วยมาตรการเฉพาะจุด เช่น มาตราการรวมหนี้ทุกส่วนเป็นก้อนเดียว เพื่อปรับโครงสร้างยืดระยะเวลาการชำระให้ยาวออกไป

              

นอกจากนี้ ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯ ที่กว้างขึ้น จะไม่ทําให้เงินทุนไหลออกจนเงินบาทอ่อนค่าลงมาก และเงินทุนสํารองฯ ลดลง เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลต่อเงินทุน เช่น การฟื้นตัว,เสถียรภาพเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน เห็นได้จากตั้งแต่ต้นปี ไทยยังมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 1.52 แสนล้านบาท

สำหรับ Beyond 2023  smooth takeoff แล้วจะทําอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยโตยั่งยืน? ดร.เศรษฐพุฒิ มองว่า ต้องปรับหนี้ครัวเรือนลดสู่ระดับที่ยั่งยืน ต้องแก้แบบครบวงจร มาตรการไม่ปูพรม ,ไม่สร้างภาระเพิ่มให้ลูกหนี้ , ไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ , ลูกหนี้-เจ้าหนี้ร่วมมือ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลา

 

รวมถึงต้องทำให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ความภาคการเงินช่วย facilitate ให้เศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน การลงทุนโครงสร้างฟื้นฐานคมนาคมเพื่อสร้างความเติบโตทางธุรกิจที่จะได้รับอานิสงค์ และการลงทุนขยายด้านดิจิทัลพร้อมเพย์ฯลฯเชื่อมโยงกับประเทศทั่วโลก

 

ปีหน้าโลกเข้าสู่ศก.ถดถอย

              

ขณะที่เวทีเสวนาหัวข้อ”เศรษฐกิจไทย ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจโลก” ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกปี2566 จะท้าทายกว่าปีนี้ จากวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ Recession หรือ เศรษฐกิจถดถอย ถ้าไทยไม่ทำอะไรก็มีโอกาสมากที่จะก้าวไม่พ้นเหว เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นในโลกจะส่งผลมากระทบกับไทยอย่างแน่นอน

              

สิ่งที่น่ากังวลอีกอย่างในปีหน้า คือ กลุ่มประเทศ Emerging Market หรือ เศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ เช่น สปป.ลาว เมียนมา ปากีสถาน ศรีลังกา เอลซัลวาดอร์ อียิปต์ กลุ่มประเทศละตินอเมริกา และยุโรปบางประเทศ จะเกิดปัญหาทางการเงินของประเทศ และจะได้รับผลกระทบหนักจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ระดับ 8.3%

              

ดังนั้น ในการบริหารนโยบายปีหน้า สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ การถนอมทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยไว้รองรับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นกลางปีหน้า ส่วนการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เชื่อว่า ถ้าเงินบาทอ่อนค่าจากสาเหตุการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ไม่น่ากังวลมาก และยังช่วยภาคการส่งออก เกษตร สินค้าไทย และการท่องเที่ยวด้วย

              

“การท่องเที่ยว จะเป็นหัวใจสำคัญให้ไทยมีกำลังเดินไปข้างหน้า ช่วงนี้รัฐควรหางบให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ไปประชาสัมพันธ์ในจีน พร้อม ๆ กับส่งเสริม LTR ดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน เร่งโครงการ PPP และส่งข่าวเหล่านี้ให้ทั่วโลกเห็นประเทศไทยพร้อมเปิดประเทศรองรับแล้ว”

 

จี้ลดการขาดดุล-ปรับดอกเบี้ย

              

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ในระยะสั้นยังเป็นห่วงสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งปัจจุบันขาดดุลแล้ว 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจากนี้ไปเชื่อว่าน่าจะรุนแรงขึ้นอีก และคงต้องมีเงินทุนอื่นไหลเข้ามาทดแทน เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยมีปัญหา

              

“ถ้าเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ดี มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นจากล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2565 มีเข้ามา 1 ล้านคนคงไม่พอ ต้องดันให้ได้ 1.5 - 2 ล้านคน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 - กุมภาพันธ์ 2566 อาจจะช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ขาดดุลได้”

              

พร้อมกันนี้ยังอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้ส่วนต่างแคบลง เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ปรับขึ้นไปในระดับที่สูงมาก ขณะที่ไทยต่ำมาก ถือเป็นจุดเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ ส่วนระยะยาวสิ่งสำคัญคือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตรองรับการเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุด

 

การส่งออกเริ่มแผ่วชัดเจน

              

ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลก ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 3.1% ส่วนปี 2566 อยู่ที่ 4.3% และปรับลงมาที่ 3.9% ในปี 2567 ล่าสุดเห็นสัญญาณการส่งออกที่เริ่มแผ่วลงอย่างชัดเจน จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่การท่องเที่ยวเริ่มปรับดีขึ้น

              

ทั้งนี้ธนาคารโลกได้ติดตามสถานการณ์ Recession หรือ เศรษฐกิจถดถอย หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ รับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงไม่ไหว และปรับเพิ่มขึ้นดอกเบี้ยแบบกระชากก็ส่งผลให้เกิด Technical Recession หรือ ภาวะถดถอยทางเทคนิค เพราะเศรษฐกิจหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส เกิดขึ้นระดับโลกได้

              

“เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า เมื่อเทียบกับในอาเซียน เนื่องจากพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง ด้านการส่งออกเริ่มแผ่วชัดเจน เนื่องจากมีการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก ส่วนการประมาณการเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ไม่ได้มองเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ Recession เนื่องจากสหรัฐฯ ยังมีพื้นที่การคลังเพียงพอ”

              

ส่วนไทยเอง ประเมินว่า จะสามารถรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงได้ และคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในปี 2566 ซึ่งปัจจุบันคงกังวลกับเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้

 

ใช้แนวคิด ESG ลดเสี่ยง

              

นายจอน เพนไรซ์ ประธาน บริษัทดาว ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก (Dow Asia Pacific) กล่าวในหัวข้อ New World Order: New Strategy กลยุทธ์รับกติกาโลกใหม่ ระบุว่า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้วิธีดำเนินธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก เนื่องจากบริบทที่โลกกำลังเผชิญอยู่นั้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก ทำให้ยากที่จะคาดเดาสถานการณ์ภายภาคหน้า

 

องค์กรธุรกิจไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต้องเตรียมพร้อมเสมอกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการปรับตัวตามกระแสโลกที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยคาร์บอน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การร่วมแก้ไขปัญหาโลกร้อนและการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่จะส่งผลกระทบสร้างความเสียหายให้กับทุกภาคส่วน

              

ดังนั้น การนำแนวคิด ESG จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ ด้วยการสะท้อนบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย และการนำเสนอผลการดำเนินงานในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันนักลงทุนเองก็สนใจลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับแนวคิด ESG ด้วย