ส่องแผนเปิดเส้นทาง “รถไฟไทย-ลาว” คืบหน้าถึงไหน-เปิดให้บริการเมื่อไร

06 ต.ค. 2565 | 00:00 น.

“รฟท.” เปิดแผนคืบหน้าสร้าง “รถไฟไทย-ลาว” เชื่อมระบบขนส่งทางราง 3 ประเทศ เผยเปิดให้บริการได้เมื่อไร มีแนวเส้นทางไหนบ้าง

สำหรับโครงการรถไฟจีน-ลาว ที่เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา เป็นเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างนครคุนหมิงกับนครหลวงเวียงจันทน์ ที่จะส่งเสริมการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างลาวกับจีนให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งอยู่ใกล้กับจังหวัดหนองคาย โดยเส้นทางรถไฟดังกล่าวมีความสำคัญในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมื่อมีการเชื่อมต่อโครงข่ายโดยสมบูรณ์จากจีน ลาว มายังไทย ซึ่งขณะนี้ไทยได้มีแผนเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟหนองคายไปยังสถานีรถไฟเวียงจันทน์ ด้วยการพัฒนาสถานีรถไฟหนองคายให้สามารถรองรับการขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1

 

 

 

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานรถไฟไทย-ลาว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมการประชุมกลุ่มย่อยในรายละเอียดสำหรับการเดินรถดังกล่าว ได้แก่ ด้านค่าโดยสารหรือประเด็นอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้อง ล่าสุดรฟท.และการรถไฟลาว ได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 และ 9 สิงหาคม 2565 และมีมติเห็นชอบให้สถานีท่านาแล้ง เป็นสถานีระหว่างประเทศเช่นเดิม โดยการรถไฟลาวจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ มาอบรม พนักงานขับรถและพนักงานรักษารถ  คาดอบรมเสร็จเรียบร้อยแล้วภายในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 พร้อมการยืนยันการใช้ทางก็จะดำเนินการเปิดเดินรถต่อไป
 

ทั้งนี้แผนเปิดขบวนรถโดยสารของรถไฟไทย-ลาวระยะเร่งด่วน (ปี 2566) จะขยายต้นทาง/ปลายทางของขบวนรถที่ให้บริการในปัจจุบัน ในฝั่งลาว จากสถานีท่านาแล้ง เป็นสถานีบ้านคำสะหวาด จำนวน 4 ขบวนต่อวัน (ไป-กลับ) เริ่มให้บริการกลางปี2566 ส่วนแผนระยะกลาง (ปี 2567) จะขยายสถานีต้นทางและสถานีปลายของขบวน ในฝั่งไทย จากสถานีหนองคาย เป็น สถานีอุดรธานี จำนวน 4 ขบวนต่อวัน (ไป-กลับ) และเปิดเดินขบวนรถระหว่าง สถานีนครราชสีมา – บ้านคำสะหวาด จำนวน 2 ขบวนต่อวัน (ไป-กลับ) ขณะที่แผนระยะยาว (ปี 2568 เป็นต้นไป) จะจัดขบวนรถโดยสารทางไกล ระหว่างสถานีบางซื่อพัทยา – สถานีบ้านคำสะหวาด จำนวน 2 ขบวนต่อวัน (ไป-กลับ)
 

สำหรับแนวเส้นทางรถไฟไทย-ลาว ดังนี้ 1.สถานีนาทา 2.สถานีหนองคาย 3.สถานีท่านาแล้ง 4.สถานีเวียงจันทร์บ้านคำสะหวาด โดยแนวเส้นทางจะผ่านท่าเรือบก ท่านาแล้ง ,ย่านกองเก็บตู้สินค้า (CY) ที่ท่านาแล้ง และจุดเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้า ท่านาแล้ง