‘กรมขนส่ง’เปิดตัวเอกชนคว้าสัมปทาน 71 สาย รุกแผนปฏิรูป 77 เส้นทาง

30 ก.ย. 2565 | 00:07 น.

“กรมขนส่ง” เดินหน้าปฏิรูปเส้นทางเดินรถ 77 เส้นทาง เผยตัว เอกชนคว้า 71 เส้นทาง ขอใบอนุญาตเดินรถ เตรียมบรรจุรถในเส้นทางเพิ่ม 361 คัน 16 เส้นทาง ภายในเดือน ก.ย.นี้ ยืดเวลาผู้ประกอบการขยายสิทธิ์ทยอยจดทะเบียนภาษี-เดินรถ ภายในสิ้นเดือนธ.ค. 65

ล่าสุดทาง “กระทรวงคมนาคม” ได้มอบหมายให้ “กรมขนส่งทางบก” พิจารณาให้รถขนส่งสาธารณะ ทั้งรถเมล์ ขสมก., รถร่วมบริการ ขสมก. และรถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปลี่ยนเป็นรถโดยสารไฟฟ้า (EV) โดยในปี 2565 ได้ตั้งเป้าหมายไว้ไม่น้อยกว่า 1,000 คัน จากแผนทั้งหมด 3,200 คัน

 

 

 

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการเดินรถทั้ง 77 เส้นทาง เบื้องต้นผู้ประกอบการเดินรถที่ได้รับใบอนุญาตจาก กรมฯแล้วต้องดำเนินการเข้าบรรจุรถในเส้นทางภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ จำนวน 361 คัน 16 เส้นทาง โดยตั้งเป้าให้ผู้ประกอบการเดินรถที่ได้รับใบอนุญาตทยอยเข้ารับการบรรจุในเส้นทางแล้วเสร็จครบทุกเส้นทางภายในเดือนธันวาคม 2565

 

 

 

หลังจากที่กรมฯมีแผน การปฏิรูปรถโดยสารในการบรรจุรถตามเส้นทางนั้น ปัจจุบันได้นำร่องการเปิดให้บริการรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้พลังงานสะอาด (EV) สาย 2-38 (สาย 8 เดิม) เส้นทางแฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ จำนวน 25 คัน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น เพราะเป็นรถที่มีการปรับโฉมใหม่, สะอาดพร้อมอำนวยความสะดวกผู้พิการ รวมทั้งมีการติดตั้งกล้องทั้งหมด 3 เครื่อง ภายในรถโดยสารเพื่อควบคุมพฤติกรรมผู้ขับขี่ รวมทั้งพฤติกรรมการใช้รถบนท้องถนนเป็นไปตามกฎระเบียบ และเข้าสู่การให้บริการรถสาธารณะที่มีมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาการปรับเส้นทางเดินรถใหม่เป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากผู้ประกอบการเดินรถเอกชนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พบว่าใน 1 เส้นทางมีผู้ประกอบการเดินรถหลายราย ทำให้เกิดการแข่งขันในการเดินรถทับซ้อนระหว่างกัน จนเกิดการร้องเรียน ส่งผลให้เส้นทางเดินรถไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยการปฏิรูปเส้นทาง 77 เส้นทาง ที่ได้ดำเนินการนั้น เป็นการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลังจากที่มีการศึกษาแล้ว 4-5 เดือน จะต้องเปิดรับฟังผลตอบรับและความคิดเห็นจากประชาชน หากแผนการเดินรถในปัจจุบันไม่มีความเหมาะสมก็สามารถปรับแนวเส้นทางโดยการออกประกาศได้ หรือปรับปรุงการเดินรถในเส้นทางเดิมก็สามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัว

 

 

“ส่วนแผนการปฏิรูปเส้นทางใหม่เพิ่มเติมจาก 77 เส้นทาง ทางกรมฯเห็นว่าเส้นทางต่างๆ ในอนาคตจะมีความแตกต่างจากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นเส้นทางที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางในการเดินรถได้ตลอดเวลาตามความต้องการของประชาชน หากมีการให้บริการเดินรถราว 3-4 เดือน จะเริ่มใช้ระบบ AI ในการคำนวณปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการในเส้นทางนั้นๆ และบริเวณในเส้นทางใดที่มีพื้นที่ที่มีการเกิดชุมชนใหม่ๆ รวมทั้งมีผู้โดยสารใช้บริการเป็นจำนวนมาก จะต้องปล่อยความถี่ในการเดินรถเพิ่มขึ้น”

 

 

 

นอกจากนี้กรมฯได้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางให้กับบริษัท ไทย
สมายล์บัส จำกัด แล้ว จำนวน 71 เส้นทาง โดยผู้ประกอบการเดินรถจะต้องเข้าดำเนินการทางทะเบียนและภาษีรถพร้อมทั้งจัดเดินรถตามเงื่อนไขภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ส่วนอีก 6 เส้นทาง ปัจจุบันกรมฯได้ตัวผู้ประกอบการเดินรถครบแล้ว ซึ่งบริษัทที่ได้รับการอนุญาตจะต้องเข้ามาบรรจุรถในเส้นทางตามแผนภายใน 31 ตุลาคม 2565 ทั้งนี้ผู้ประกอบการเดินรถมีสิทธิ์ขอขยายระยะเวลาการบรรจุรถตามแผนฯได้ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2565

ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกได้ประกาศให้ผู้ประกอบการเดินรถที่ประสงค์จะขอใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง เส้นทางหมวด 1 ตามแนว ทางการปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง จำนวน 77 เส้นทาง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 โดยพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการ ใช้เกณฑ์การประเมินคุณภาพบริการ 90 คะแนน และเกณฑ์การเยียวยา 10 คะแนน

 

 

‘กรมขนส่ง’เปิดตัวเอกชนคว้าสัมปทาน 71 สาย รุกแผนปฏิรูป 77 เส้นทาง

ทั้งนี้ 6 เส้นทางมีเอกชนผู้ประกอบการได้รับสัมปทานแล้ว ประกอบด้วย 1. สาย S3 (สาย 559 เดิม) รังสิต-สวนสยาม-ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ (ทางด่วน), 2. สาย S4 (สาย 549 เดิม) มีนบุรี-ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ, 3. สาย S5 (สาย 550 เดิม) แฮปปี้แลนด์-ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ, 4. สาย S (สาย 555 เดิม) สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร)-ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ (ทางด่วน) 5. สาย 3-3 (สาย 11 เดิม) สวนหลวง ร.9-สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ และ 6. สาย 3-34 (ใหม่) บางนา-นิคมอุตสาห กรรมลาดกระบัง

 

 

 

สำหรับ 71 เส้น ทางที่บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด ได้รับอนุมัติให้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง เช่น สาย 1-2E (สาย 34 เดิม) รังสิต-หัวลำโพง (ทางด่วน), สาย 1-31 (ใหม่) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ-คลองหลวง, สาย 1-32E (ใหม่) บางเขน-สถานีรถไฟฟ้าตลาดพลู (ทางด่วน), สาย 1-33 (ใหม่) เป็นต้น